โมเดลธุรกิจ Western Union ยักษ์การเงินที่โตจากความเหลื่อมล้ำเพราะยังมีคนนับล้านต้องส่งเงินกลับบ้าน
ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเป็นตัวเร่งขับเคลื่อนโลกให้หมุนไปเร็วขึ้น ผู้คนใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น ธุรกิจหลายอย่างเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเงิน ที่กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้งานมากที่สุด และก้าวหน้ามากที่สุด
หนึ่งในภาคส่วนที่มีเม็ดเงินไหลเวียนมหาศาล และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ “Cross-Border Payment” หรือ “การชำระเงินข้ามพรมแดน” โดยในปี 2024 ตลาดนี้มีขนาดประมาณ 194.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายใหญ่ขึ้นสู่ 320 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2032 ตามข้อมูลของ FXC Intelligence
เช่นเดียวกันกับตลาด Non-Wholesale หรือ Retail Payment ซึ่งประกอบไปด้วยการชำระข้ามพรมแดนของ B2B (Business-to-Business), B2C (Business-to-Customer), C2B (Customer-to-Business) และ C2C (Customer-to-Customer) ที่ในปี 2024 มีมูลค่ากว่า 39.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะแตะ 64.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2032
การเติบโตของตลาดนี้มีผลมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้การชำระเงินเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ บวกกับการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce และการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำให้การใช้จ่ายข้ามประเทศเกิดได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องการพึ่งบริการการชำระเงินข้ามประเทศ จากข้อมูลของ World Bank เมื่อปี 2024 ประมาณการไว้ว่า มีผู้คนทั่วโลกกว่า 1,400 ล้านคนที่ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ และแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาปิดช่องว่างลงได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์กับอีกหลายคนที่ถือเงินสดเป็นหลัก
จึงเป็นที่มาว่าทำไมบริษัทการเงินอย่าง Western Union ที่อยู่มายาวนานถึง 174 ปียังคงอยู่รอดด้วยการพึ่งพารายได้จากการให้บริการส่งเงินข้ามประเทศ สำหรับลูกค้าที่ถือเงินสด ไม่สามารถเข้าถึงบริการหรือเทคโนโลยีทางการเงินได้ ครอบคลุมบริการทั่วโลกในกว่า 200 ประเทศ ทั้งในรูปแบบหน้าร้าน มีเอเจนต์ในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าแรงงานที่ต้องการส่งเงินกลับบ้านโดยเฉพาะ
บทความนี้ Thairath Money คอลัมน์ How to Make Money จะพาไปทำความเข้าใจโมเดลการทำงานและการทำเงินของ Western Union หนึ่งในบิ๊กการเงิน ที่ทุกวันนี้พึ่งกลยุทธ์ธุรกิจ 2 ขา ที่ผสมผสานระหว่างเครือข่ายตัวแทนที่มีอยู่ทั่วโลกเข้ากับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โมเดลลูกผสมนี้ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลักได้อย่างเหนียวแน่น นั่นคือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการทำธุรกรรมด้วยเงินสดเป็นหลัก
ยักษ์ที่อยู่มากว่า 170 ปี
ก่อนอื่นจะต้องขอพาย้อนไปดูประวัติความเป็นมาของ Western Union ว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้เริ่มต้นด้วยธุรกิจด้านการเงิน แต่เริ่มต้นจากธุรกิจ “โทรเลข” ที่เรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจด้านการสื่อสารของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นเลยทีเดียว
ยุคทองโทรเลข
จุดกำเนิดของ Western Union ต้องย้อนกลับไปในปี 1851 ในยุคของโทรเลข เริ่มต้นจากการก่อตั้งบริษัท “New York and Mississippi Valley Printing Telegraph Company” ในเมืองโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก เป็นผู้มาก่อนกาลที่ต้องการจะวางสายโทรเลขเชื่อมรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาเข้าด้วยกัน
แต่จุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในปี 1856 เมื่อบริษัทได้ควบรวมกิจการกับคู่แข่งรายสำคัญ และจากการควบรวมนี้ทำให้บริษัทได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น “Western Union Telegraph Company” เพื่อสื่อถึงแนวคิดหลัก อย่าง การรวมสายโทรเลขจากฝั่งตะวันตกให้เป็นหนึ่งเดียว แนวคิดดังกล่าวยังได้วางรากฐานเกี่ยวกับเครือข่ายที่ทรงพลังและเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมาจนถึงทุกวันนี้
บริษัทได้เดินหน้ารวบรวมกิจการในอุตสาหกรรมโทรเลขของอเมริกาที่เคยกระจัดกระจายอย่างรวดเร็ว ผ่านการไล่ซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนี้นำไปสู่หนึ่งในความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 19 ทั้งในด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ นั่นคือ การวางสายโทรเลขข้ามทวีปสายแรกได้สำเร็จในปี 1861 พร้อมกับส่งข้อความแรกผ่านเครือข่ายใหม่นี้ถึงประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ก็ยิ่งตอกย้ำสถานะของ Western Union ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของชาติ
ต่อมาในปี 1866 หลังจากการเข้าซื้อกิจการคู่แข่งรายใหญ่ 2 รายสุดท้าย อย่าง American Telegraph Company และ United States Telegraph Company ก็ทำให้ Western Union สามารถผูกขาดอุตสาหกรรมโทรเลขของอเมริกาได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทสำคัญของสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร และสร้างอิมแพคต่อวิถีชีวิตชาวอเมริกันมาอย่างยาวนาน
เปลี่ยนผ่านสู่บริการโอนเงิน
หลังจากครองตลาดการส่งข้อมูลได้อย่างเบ็ดเสร็จ Western Union ก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจอย่างเฉียบแหลมในการส่งต่อมูลค่า ในปี 1871 บริษัทได้เปิดตัวบริการ “โอนเงินผ่านสาย” หรือ “Wire Money Transfer” เป็นครั้งแรกของโลก นวัตกรรมนี้ถือเป็นการพลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่ โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโทรเลขที่มีอยู่เดิมเพื่อเคลื่อนย้ายเงินทุนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ระยะทางไกล
บริการนี้ได้วางรากฐานทางการเงินที่กลายมาเป็นตัวตนปัจจุบันของบริษัท ควบคู่ไปกับนวัตกรรมหลักนี้ บริษัทยังคงขยายบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดตัวเครื่องรายงานราคาหุ้น (Stock Ticker) เครื่องแรกในปี 1866 และบริการเทียบเวลามาตรฐาน (Standardized Time Service) ในปี 1870 ซึ่งยิ่งตอกย้ำการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นเลือดใหญ่ทางการค้าของอเมริกา
กว่าหนึ่งศตวรรษที่ Western Union ได้ดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทสื่อสารและบริการทางการเงินแบบครบวงจร จนเกิดจุดเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เมื่อมีการผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงิน เปิดทางให้ธุรกิจโอนเงินที่เคยจำกัดอยู่แค่ในประเทศสามารถขยายสู่เวทีระหว่างประเทศได้ Western Union ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ โดยเดินหน้ารุกขยายเครือข่ายอย่างจริงจัง จนครอบคลุมปลายทางการโอนเงินที่สำคัญอย่างประเทศจีนได้สำเร็จในช่วงกลางทศวรรษ 1990
การเปลี่ยนผ่านครั้งสุดท้ายที่ชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2006 โดย Western Union ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และได้ปรับโฟกัสทั้งหมดมาที่บริการโอนเงินข้ามพรมแดนอย่างเต็มตัว และในวันรุ่งขึ้นบริษัทได้ส่งโทรเลขฉบับสุดท้าย เป็นการปิดฉากตำนานธุรกิจต้นกำเนิดของบริษัทลงอย่างเป็นทางการ และเพื่อเปิดรับอนาคตในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกอย่างสมบูรณ์
แนวคิดธุรกิจ “ช่วยทุกคนส่งเงินกลับบ้าน”
โมเดลธุรกิจของ Western Union คือระบบลูกผสม (Hybrid System) ที่ซับซ้อน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มประชากรโลกที่มักถูกมองข้าม บริษัทได้ผสมผสานโครงสร้างพื้นฐานเดิมทางกายภาพที่มีอยู่มหาศาล อย่างการมีหน้าร้าน มีเอเจนต์คอยให้บริการ เข้ากับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจมีระบบนิเวศที่เป็นเอกลักษณ์
ภารกิจที่บริษัทประกาศไว้คือ “การทำให้ผู้คนทุกหนแห่งสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้” โดยมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือผู้คนและธุรกิจให้สามารถสร้างอนาคตที่มั่งคั่งขึ้นสำหรับครอบครัวและชุมชนของตัวเอง แต่ภารกิจนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าผู้มั่งคั่งตามแบบที่ธนาคารทั่วไปต้องการ
โดย Western Union มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติและประชากรทั่วโลกที่เข้าไม่ถึงบริการธนาคาร หรือไม่มีบัญชีธนาคาร ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มักจะถูกกีดกันออกจากระบบการเงินกระแสหลักด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น มีรายได้ไม่แน่นอน มีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ขาดเอกสารทางการที่จำเป็นในการเปิดบัญชีธนาคาร ตลอดจนเผชิญกับอุปสรรคสำคัญด้านภาษาและวัฒนธรรม
สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ที่ต้องการความเรียบง่ายในบริการ เข้าถึงได้ง่าย และเน้นการถือเงินสด เพียงแค่เดินไปหน้าร้านของ Western Union ยื่นเงินสดพร้อมเอกสารสำคัญ อย่างเช่น บัตรประชาชน พาสปอร์ต และข้อมูลของผู้รับปลายทาง เพียงเท่านี้ก็สามารถส่งเงินกลับบ้านได้แล้ว
จุดนี้ทำให้ Western Union กลายเป็นความสะดวกสบายที่มาตอบสนองความจำเป็นในการดำรงชีวิต การที่บริษัทมุ่งเน้นเชิงกลยุทธ์ไปที่ประชากรกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส ถือเป็นปัจจัยสร้างความแตกต่างที่สำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างตลาดขนาดมหึมาของตนเองขึ้นมาได้ทั่วโลก
และเมื่อโลกกำลังขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยี Western Union ก็ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป หันมาทุ่มทุนมหาศาลสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วยเว็บไซต์ WU.com และแอปพลิเคชันบนมือถือ โดยปัจจุบันรองรับการส่งเงินจากกว่า 75 ประเทศทั่วโลก
ธุรกิจในส่วนนี้ที่เรียกว่า “Branded Digital” ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตของบริษัท โดยมีการรายงานยอดธุรกรรมที่เติบโตในระดับเลขสองหลักอย่างต่อเนื่องในไตรมาสล่าสุด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าลูกค้าตอบรับและหันมาใช้งานเป็นอย่างดี
ที่สำคัญคือ เครือข่ายดิจิทัลและเครือข่ายตัวแทนไม่ได้ทำงานแยกส่วนกัน แต่ถูกผสมผสานเข้าด้วยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยฟีเจอร์สำคัญของแพลตฟอร์ม Western Union คือการที่ผู้ส่งเงินสามารถเริ่มต้นทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ จากนั้นผู้รับเงินสามารถไปรับเงินสดได้ที่จุดบริการตัวแทนจริงในอีกไม่กี่นาทีต่อมา
ความสามารถในการเชื่อมต่อโลกดิจิทัลเข้ากับโลกจริงได้อย่างไร้รอยต่อนี้ ถือเป็นความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์ที่คู่แข่งฟินเทคซึ่งเป็นดิจิทัลล้วน ๆ ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย ๆ
โมเดลทำเงินของ Western Union
จากรายงานผลประกอบการของ Western Union ในปี 2024 พบว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 4,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ มีรายได้ที่ 984 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วบริษัทสามารถทำเงินได้ในหลักพันล้านนี้ได้อย่างไร? คำตอบคือ มาจาก 2 ช่องทาง ได้แก่ “ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม” และ “ส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน”
ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (Transaction Fees)
ในการทำธุรกรรมผ่าน Western Union แต่ละครั้งจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เป็นค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งเงินต้องจ่ายล่วงหน้าเพื่อเริ่มต้นการโอน แต่ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะไม่คงที่ มีความผันผวนสูงต่ำขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่
- จำนวนเงินที่ส่ง (Principal Amount): ยิ่งส่งมาก ค่าธรรมเนียมอาจเปลี่ยนไป
- เส้นทางการโอน (Corridor): ค่าธรรมเนียมในประเทศต้นทางและประเทศผู้รับจะต่างกันไปตามกฎเกณฑ์ของบริษัท
- วิธีการชำระเงิน (Payment Method): เงินสด, บัญชีธนาคาร, บัตรเดบิต, บัตรเครดิต
- วิธีการรับเงิน (Delivery Method): รับเงินสด, เข้าบัญชีธนาคาร, เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล (Mobile Wallet)
- ความเร็วในการโอน (Transfer Speed): ความเร่งด่วนของการโอน เช่น บริการพิเศษ Money in Minutes ที่ผู้รับจะได้รับเงินในไม่กี่นาทีก็จะเสียค่าธรรมเนียมสูงกว่า
ทั้งนี้ ก็มีอยู่บ่อยครั้งที่ Western Union ใช้โปรโมชันส่งเสริมการขาย เช่น ไม่มีค่าธรรมเนียมโอนสำหรับการโอนเงินออนไลน์ครั้งแรก เพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาดดึงดูดผู้ใช้ใหม่เข้ามาสู่ระบบนิเวศของบริษัท จากนั้นรายได้กระแสที่สองซึ่งสำคัญกว่าก็จะเริ่มทำงาน
ส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange - FX Spread)
ส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน คือ เครื่องจักรทำเงินที่แม้โปร่งใสน้อยกว่าแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลกำไรของ Western Union นั่นคือ ส่วนต่างระหว่าง “อัตราแลกเปลี่ยนแบบขายส่ง” ที่ Western Union สามารถหามาได้ กับ “อัตราแลกเปลี่ยนแบบขายปลีก” ที่บริษัทเสนอให้กับลูกค้า โดยมีกลไกการทำงานเป็นดังนี้
- อัตราแลกเปลี่ยนขายส่ง (Wholesale Rate): สถาบันการเงินขนาดใหญ่จะซื้อขายสกุลเงินในตลาดระหว่างธนาคารด้วยเรทเฉพาะ ซึ่งมักเรียกว่า อัตรากลาง (Mid-market Rate)
- อัตราแลกเปลี่ยนขายปลีก (Retail Rate): หลังจากนั้น Western Union จะบวกส่วนต่างกำไร หรือ Spread เข้าไปในอัตราขายส่ง และเสนออัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมให้กับลูกค้า
- การทำกำไร (Profit Capture): ส่วนต่างระหว่างอัตราขายส่งและอัตราขายปลีก คือรายได้ที่ Western Union เก็บเข้ากระเป๋าไปจากธุรกรรมนั้น
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ สมมติว่าลูกค้าต้องการส่งเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐจากสหรัฐอเมริกามาไทย (อัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นอัตราสมมตินะคะ เพื่อทำให้เห็นภาพง่ายขึ้นค่ะ)
- สมมติอัตราแลกเปลี่ยนกลางในตลาดของ 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 34 บาท
- อัตราแลกเปลี่ยนที่ Western Union เสนอ 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 32 บาท
- ลูกค้าจ่ายค่าธรรมเนียมเบื้องต้น สมมติว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น เงินต้น 500 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อแลกด้วยเรทของ Western Union ผู้รับจะได้รับเงินที่ 500 * 32 = 16,000 บาท แต่หากใช้อัตราแลกเปลี่ยนกลาง เงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐควรจะมีมูลค่าที่ 500 * 34 = 17,000 บาท
นั่นเท่ากับว่า ส่วนต่าง 1,000 บาท (คิดเป็นเงินประมาณ 29.40 ดอลลาร์สหรัฐตามอัตรากลาง) คือต้นทุนแฝงที่เกิดจาก FX Spread ซึ่ง Western Union ได้รับส่วนนี้เข้ากระเป๋าไปเป็นรายได้
ในสถานการณ์นี้ ต้นทุนที่แท้จริงของผู้ส่งจึงไม่ใช่แค่ค่าธรรมเนียม 5 ดอลลาร์สหรัฐที่เป็นค่าธรรมเนียม แต่ยังมี 29.40 ดอลลาร์สหรัฐที่เป็นต้นทุนแฝง รวมเป็น 34.40 ดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง
FX Spread นี้เอง คือจุดที่คู่แข่งธุรกิจ FinTech อย่าง Wise (ชื่อเดิม TransferWise) สร้างแบรนด์ขึ้นมาเพื่อโจมตีโดยตรง โดยชูจุดขายเรื่องการใช้อัตราแลกเปลี่ยนกลางในการแลกเปลี่ยน พร้อมเก็บค่าธรรมเนียมที่โปร่งใสและชัดเจน
อย่างไรก็ตาม จากรายงานผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา Western Union กลับมีรายได้ลดลงในทุกปี โดยมองย้อนกลับไปตั้งแต่ 2021 พบว่า Western Union มีรายได้ดังนี้
- ปี 2021: 5,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ปี 2022: 4,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ปี 2023: 4,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ปี 2024: 4,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยธุรกิจโอนเงินลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักนี้มีรายได้ลดลง 9% ในไตรมาส 1 ปี 2025 แม้ว่ายอดธุรกรรมโดยรวมในกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้น 3% ส่วนธุรกิจดิจิทัล (Branded Digital) กลุ่มนี้ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลัก โดยในไตรมาสนี้เติบโตขึ้น 7%
ซึ่งในปัจจุบันนี้ Western Union กำลังเร่งขับเคลื่อนบริษัทด้วยแนวทางใหม่ด้วยกลยุทธ์ “Evolve 2025” ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยบริษัทยังคงมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง จึงยอมเสียสละอัตราในระยะสั้น เพื่อเป็นทุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่เน้นดิจิทัลมากขึ้น
ที่มา: Western Union [1][2][3], Vizology.), Britannica, Companies Market Cap, FXC Intelligence, WE Forum, US SEC, Modern MBA
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : โมเดลธุรกิจ Western Union ยักษ์การเงินที่โตจากความเหลื่อมล้ำเพราะยังมีคนนับล้านต้องส่งเงินกลับบ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โมเดลธุรกิจ Western Union ยักษ์การเงินที่โตจากความเหลื่อมล้ำเพราะยังมีคนนับล้านต้องส่งเงินกลับบ้าน
- Money20/20 กลับมาอีกครั้ง เปิดนวัตกรรมการเงินเปลี่ยนอนาคต ชูเทรนด์ Payments มาตรฐานใหม่ของเอเชีย
- ภายใน 4 ปี E-Commerce อาเซียนจะมีมูลค่าสูงถึง 11 ล้านล้านบาท เม็ดเงินสะพัดข้ามพรมแดน
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath