จีนใช้ ‘กองทัพหุ่นยนต์’ ช่วยสร้าง ‘สถานีรถไฟ’ พื้นที่เท่าสนามฟุตบอล 170 สนาม
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ฉงชิ่ง, 4 ก.ค. (ซินหัว) — สถานีรถไฟฉงชิ่งตะวันออก ซึ่งเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่ที่สุดในจีนตะวันตก เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากใช้เวลาก่อสร้าง 38 เดือน นับตั้งแต่ได้รับพิมพ์เขียวการออกแบบในเดือนพฤษภาคม 2022 โดยโครงการก่อสร้างอันยิ่งใหญ่นี้มี “กองทัพหุ่นยนต์” คอยช่วยทำงานอยู่เบื้องหลัง
ซุนฮ่าวหราน ผู้จัดการโครงการสถานีรถไฟภายใต้ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชัน เอ็นจิเนียริง กรุ๊ป กล่าวว่าสถานีแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตหนานอั้น เมืองฉงชิ่ง มีชานชาลา 15 แห่ง ทางรถไฟ 29 ราง ตัวอาคารสถานีมี 8 ชั้น ด้วยพื้นที่ก่อสร้างรวม 1.22 ล้านตารางเมตร เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลมาตรฐาน 170 สนาม ขณะหลังคาครอบคลุมพื้นที่ราว 1.2 แสนตารางเมตร หนัก 16,500 ตัน ซึ่งซุนบอกเล่าว่าแค่เพียงหลังคาสถานีก็ใหญ่โตมากแล้ว ทำให้งานก่อสร้างมีความยากและมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูง
อุณหภูมิในฉงชิ่งมักสูงถึง 40 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน การสร้างศูนย์กลางการขนส่งขนาดใหญ่บนภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยขุนเขาจึงต้องอาศัยนวัตกรรมใหม่ๆ และจุดนี้เองที่หุ่นยนต์ได้เข้ามามีส่วนปฏิวัติวงการด้วยการเปลี่ยนโฉมการก่อสร้างแบบเดิมๆ ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว
เมื่อก่อนนี้การปรับระดับพื้นดินภายใต้อุณหภูมิ 40 องศามักทำให้คนงานล้มป่วยเพราะโรคลมแดด แต่ตอนนี้หุ่นยนต์นำทางด้วยเลเซอร์ทำงานได้อย่างแม่นยำระดับมิลลิเมตรด้วยความเร็วสามเท่าของมนุษย์ ลดต้นทุนแรงงานถึงร้อยละ 40
เครื่องปรับระดับพื้นด้วยเลเซอร์สี่ล้อที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ไลดาร์ (LiDAR) อัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเชื่อมต่อ 5G เข้ามาแทนที่การปรับระดับพื้นคอนกรีตด้วยแรงมนุษย์ ขณะที่หุ่นยนต์ตรวจการณ์ที่ทำงานได้ทั้งตอนกลางคืนหรือฝนตก สามารถช่วยตรวจดูการสวมใส่หมวกนิรภัยหรือยานพาหนะที่จอดผิดที่ ช่วยลดเวลาการระบุอันตรายถึงร้อยละ 90 และเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบคุณภาพ 4 เท่า
ส่วนหุ่นยนต์ติดตั้งกระจกสามารถรับมือกับแผงกระจกหนัก 800 กิโลกรัมที่จำเป็นสำหรับผนังอาคารสูงตระหง่าน โดยแขนเซอร์โว (servo arms) ที่มีความแม่นยำช่วยจัดวางกระจกมหึมาด้วยความแม่นยำระดับมิลลิเมตร ทำให้การติดตั้งเร็วขึ้นสามเท่า ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุลงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับการยกด้วยมือโดยคนงานหลายสิบคน
นอกจากนี้ หุ่นยนต์เชื่อมแบบรอบทิศทางถูกนำมาใช้เชื่อมท่อเหนือศีรษะ โดยสามารถปิดผนึกข้อต่อท่อเหล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 800 มิลลิเมตรภายใน 2 ชั่วโมง น้อยกว่าเวลาที่ใช้ด้วยแรงมนุษย์ถึง 1 ใน 3
ข้อมูลจากกลุ่มสำนักการรถไฟแห่งประเทศจีนที่ 11 ยืนยันว่าหุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยเฉลี่ยสามเท่า และลดต้นทุนแรงงานเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งวิธีการก่อสร้างที่เร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น และชาญฉลาดกว่าเดิมล้วนเป็นตัวอย่างว่าเทคโนโลยีสามารถเข้ามามีบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ได้อย่างไร