หมอชี้อาการนี้เป็นสัญญาณเงียบก่อนพาร์กินสัน อาจเตือนล่วงหน้าได้เป็นสิบปี!
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ ระบุว่า ท้องผูก สัญญาณเงียบก่อนพาร์กินสัน นานนับสิบปี
อาจารย์ตรวจคนไข้พาร์กินสันมามาก 90% ท้องผูก บางคน ผูกก่อนโรคเป็นด้วยซ้ำ
หลายคนคิดว่า “ท้องผูก” เป็นแค่อาการกวนใจในชีวิตประจำวัน แต่…อาการนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
งานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันหลายรายเริ่มมีอาการท้องผูกมาก่อนจะเริ่มมีอาการสั่นหรือเคลื่อนไหวช้าหลายปี บางรายล่วงหน้านานถึง 10 ปี!
พาร์กินสันไม่ได้เริ่มที่สมองเสมอไป ในอดีตเราเชื่อว่าพาร์กินสันเป็นโรคของสมองเท่านั้น แต่ทฤษฎีใหม่โดย Dr. Heiko Braak และงานวิจัยในช่วงหลัง ชี้ว่าโรคนี้อาจเริ่มต้นที่ลำไส้ก่อนสารโดปามีนจะค่อยๆ ลดลงในสมอง
โปรตีนผิดรูปที่ชื่อว่า α-synuclein อาจเริ่มสะสมที่เส้นประสาทของลำไส้ และค่อยๆ เดินทางขึ้นสู่สมองผ่านเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve)
ท้องผูกเรื้อรัง…ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ท้องผูกในลักษณะที่ควรระวังว่าอาจเป็นสัญญาณของพาร์กินสัน ได้แก่
ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื้อรัง
ต้องเบ่งนาน หรือรู้สึกถ่ายไม่หมด
ต้องพึ่งยาระบายบ่อย
มีอาการแน่นท้อง อืดท้องเป็นประจำ
ไม่มีโรคอื่นอธิบายได้ (เช่น ไทรอยด์ต่ำ, เบาหวาน, ริดสีดวง)
ถ้ามีอาการเหล่านี้ตั้งแต่อายุยังไม่มาก และเป็นเรื้อรังต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน อาจควรพิจารณาให้ลึกกว่าแค่อาหารไม่ย่อย
เชื่อมโยงลำไส้กับสมอง: Gut-Brain Axis ระบบลำไส้และสมองเชื่อมโยงกันด้วยเส้นประสาทและฮอร์โมนต่างๆ มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า การเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (gut microbiome dysbiosis) อาจมีบทบาทกระตุ้นให้เกิดพาร์กินสันผ่านการอักเสบเรื้อรังและการสะสมของสารพิษในระบบประสาท
อย่ามองข้าม สัญญาณเงียบ นี่อาจเป็น “สัญญาณเงียบก่อนพาร์กินสัน” ที่ร่างกายกำลังพยายามบอกคุณ
ทั้งนี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง คอมเมนต์ถามว่า ‘อาการเหล่านี้มีวิธีรักษาอย่างไรครับ’ โดยนพ.สุรัตน์ ตอบกลับว่า ‘ถ่ายให้ดี ทานอาหาร ผัก ผลไม้มากๆ ครับ ดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน’…
ขอบคุณเพจ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช