กทม. ลงดาบเทศกิจ ตัดต่อภาพรายงานผล ทราฟฟี่ฟองดูว์ เร่งพัฒนาระบบกรองภาพปลอม
กทม. ลงดาบเทศกิจ ตัดต่อภาพรายงานผล ทราฟฟี่ฟองดูว์ เร่งพัฒนาระบบกรองภาพปลอม
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม แฟนเพจเฟซบุ๊กฟุตบาทไทยสไตล์ โพสต์รูปภาพที่ประชาชนแจ้งรถจักรยานยนต์จอดบนทางเท้าไปยัง ทราฟฟี่ฟองดูว์ แพลตฟอร์มแจ้งปัญหาของ กทม. หลังจากนั้นปรากฏว่าเจ้าหน้าที่มีการตัดต่อลบจักรยานยนต์ออกจากรูป ก่อนส่งให้กับผู้แจ้งว่าปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
พร้อมระบุข้อความว่า “ผมสงสัยว่าเทศกิจเค้าใช้วิธีตัดต่อรูปเอาผู้กระทำผิดออกหรือป่าว? เหมือนขี้เกียจทำงานเลย มอไซค์+ขยะ+คน หายไป …แต่รถข้างๆ เหมือนเดิมหมดเป๊ะ กรุงเทพมหานคร ฝากตรวจสอบทีครับ อันนี้เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนเลยนะเนี่ย”
“ระวังเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวนะครับ Trust ในทราฟฟี่ฟองดูว์ จะล่มสลายก็คราวนี้..”
เมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ไม่นานมีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว บ้างก็ทวงถามว่าทาง ต้นสังกัดจะดำเนินการอย่างไรกับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว และจะมีโทษตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
ต่อมา สำนักงานเขตบางพลัด ได้เข้ามาคอมเมนต์ชี้แจงว่า “ขอขอบคุณเพจ ฟุตบาทไทยสไตล์ ที่เป็นสื่อกลางในการแจ้งปัญหาของประชาชน สำนักงานเขตบางพลัด ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เบื้องต้นเขตบางพลัด ได้เรียกเจ้าหน้าที่ผู้ตอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมาชี้แจ้งข้อเท็จจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ยอมรับในสิ่งเกิดขึ้น สำนักงานเขตบางพลัดจะดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน เรื่องดังกล่าวมีการแจ้งเข้ามาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 และมีการปิดเรื่องดังกล่าวโดยใช้ภาพที่ไม่ถูกต้อง หลังจากที่ทราบถึงปัญหา วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ได้มีการปิดเรื่องร้องเรียนอีกครั้ง โดยลงพื้นที่ตรวจสอบรถมอเตอร์ไซค์จอดบนทางเท้าและทำหนังสือถึงผู้กระทำความผิดที่จอดรถบนทางเท้าดังกล่าวแล้ว
หากประชาชนท่านใดพบการปิดเรื่องไม่ได้ปิดจริงหรือลงข้อมูลผิด ท่านสามารถกดเปิดเรื่องใหม่ในระบบ Traffy Fondue ได้ทันที”
ล่าสุด นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณีมีการร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชัน Traffy Fondue เกี่ยวกับการจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้า บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 77/1 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เทศกิจที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว กลับใช้ภาพตัดต่อหรือภาพที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการตอบกลับประชาชน ส่งผลให้เพจ ฟุตบาทไทยสไตล์ นำประเด็นดังกล่าวมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ โดยสำนักงานเขตบางพลัดได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และมีคำสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวตามกระบวนการทางวินัย
กทม. เตรียมออกหนังสือเวียนสั่งทุกเขตห้ามใช้ภาพปลอม
นายเอกวรัญญู กล่าวว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตบางพลัด ใช้ AI ลบภาพที่ประชาชนร้องเรียน เพื่อแสดงว่าได้ดำเนินการเสร็จสิ้น ทั้งที่ความจริงยังไม่มีการแก้ไข ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้ ผู้อำนวยการเขตบางพลัดเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน พร้อมเตรียม ออกหนังสือเวียนแจ้งแนวปฏิบัติไปยังทุกเขตอย่างเคร่งครัด หนังสือเวียนดังกล่าวจะกำหนดให้ ห้ามเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานปลอมแปลง หรือตัดต่อภาพ หรือใช้ข้อมูลเท็จใด ๆ ในการปิดเรื่องข้อร้องเรียนของประชาชนเป็นสถานะ “เสร็จสิ้น” โดยเด็ดขาด หากพบว่าหน่วยงานใดฝ่าฝืน ให้ดำเนินการลงโทษตามควรแก่กรณีต่อไป
กทม. เร่งประสาน สวทช. พัฒนาระบบคัดกรองภาพปลอม
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอย กรุงเทพมหานครได้ประสานกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เร่งพัฒนา ระบบคัดกรองภาพปลอม ทั้งจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบ โดยระบบจะสามารถตรวจจับและสั่งระงับภาพปลอมได้ทันที พร้อมย้ำกรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยกระดับระบบให้ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และตอบสนองประชาชนได้อย่างเที่ยงตรงและรวดเร็ว เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นในการร้องเรียนผ่านระบบดิจิทัลของเมือง
ขอบคุณเพจฟุตบาทไทยสไตล์ ย้ำไม่ละเลยปัญหา
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณเพจ “ฟุตบาทไทยสไตล์” ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้คนกรุงเทพฯ พร้อมขออภัยอย่างสูงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ผู้ตอบเรื่องร้องเรียนได้ยอมรับผิดแล้ว และจะถูกดำเนินการทางวินัยตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ สำนักงานเขตบางพลัดได้ดำเนินการตรวจสอบใหม่ทันทีตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 68 และส่งหนังสือแจ้งผู้กระทำผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอีกครั้ง หากประชาชนพบการ “ปิดเรื่องปลอม” หรือข้อมูลไม่ถูกต้องในระบบ Traffy Fondue สามารถกดเปิดเรื่องใหม่ได้ทันที
“กทม. ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะความไว้วางใจของประชาชนคือหัวใจของ Traffy Fondue ดังที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำกับผู้ปฏิบัติงานเสมอ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราได้รับความไว้วางใจให้แก้ไขปัญหากว่า 1 ล้านเรื่อง และประชาชนพึงพอใจในระบบกว่า 80% เราน้อมรับข้อผิดพลาดครั้งนี้ พร้อมเร่งแก้ไขเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่น และยกระดับการทำงานให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ยิ่งขึ้น” โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าว
เขตบางพลัดยืนยันผิดจริง แจ้งเจ้าของรถให้มาพบเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน
ด้านสำนักงานเขตบางพลัดยืนยันว่า การจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งเป็นกรณีที่ได้รับการร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 17 (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดฯ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยได้ออกหนังสือแจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถให้เข้ามาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ ภายใน 15 วันทำการ หากเพิกเฉยโดยไม่มีเหตุผลอันควร เขตจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้จนถึงขณะนี้ เจ้าของรถยังไม่มาติดต่อ ซึ่งสำนักงานเขตฯ จะติดตามเรื่องต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างจริงจังและเท่าเทียม
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : กทม. ลงดาบเทศกิจ ตัดต่อภาพรายงานผล ทราฟฟี่ฟองดูว์ เร่งพัฒนาระบบกรองภาพปลอม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th