'ภาษีทรัมป์-การเมือง'เขย่าครึ่งปีหลัง หุ้นไทยเสี่ยงหลุด 1,000 จุด ลงทุนอย่างไรให้รอด!
นายเวย์ ฟุก โหว Chief Investment Office, DBS Bank เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดโลกในช่วงครึ่งหลังปี68 ยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดโลกท่ามกลางความท้าทายและความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีสหรัฐ ความไม่ชัดเจนด้านนโยบายความเสี่ยงสินทรัพย์การเงินทั่วโลก
ดังนั้น 3 ธีมหลักที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในไตรมาส 3/68 ครอบคลุมแนวโน้มการลงทุน เรื่องแรก คือ การคลี่คลายความตึงเครียดทางภาษีอย่างเป็นรูปธรรม
เรื่องที่สอง คือ ผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่เริ่มแตกต่างกันชัดเจนระหว่างภูมิภาค และกลุ่มอุตสาหกรรม
สุดท้ายคือ เรื่องความเสี่ยงทางการคลังที่กดดันพันธบัตรรัฐบาลและค่าเงินดอลลาร์ แต่กลับเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำการที่สหรัฐฯและจีนเร่งลดระดับความตึงเครียดทางการค้าอย่างกะทันหันสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด โดยมีแรงผลักดันจากเหตุผลเชิงปฏิบัติ เนื่องจากภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 145% เปรียบเสมือนมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าที่ส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย
ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาระการรีไฟแนนซ์ หนี้ภาครัฐกว่า 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ประกอบกับกระแสนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เริ่มลดลงในประเทศ ส่งผลให้ทรัมป์หันมารับนโยบายก้าวหน้าในบางด้าน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ให้พรรครีพับลิกันในฐานะพรรคของชนชั้นแรงงาน ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2570
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนคงให้น้ำหนัก"ตราสารหนี้" มากกว่าตราสารทุน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง ทั้งด้านเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของการเติบโต (stagflation) โดยโมเมนตัมของภาคการผลิตในสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ดัชนีเศรษฐกิจ โดยรวมออกมาต่ำกว่าคาด สะท้อนความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน
ในทางกลับกัน ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้น จากปัจจัยด้านอุปทานไม่ว่าจะเป็นปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน และการเร่งตัวของปริมาณเงิน โดยหลายบริษัท เริ่มรายงานต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน การคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐฯ ถูกปรับลดลงเล็กน้อย สะท้อนสมมติฐานของนักวิเคราะห์ที่คาดว่า ความตึงเครียดทางการค้าจะค่อยๆ คลี่คลาย ขณะที่ยุโรป และญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มคล้ายกัน
ตลาดเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) สวนทางกับภูมิภาคอื่น โดยคาดว่ากำไรของบริษัทในปี 2025 จะเติบโตถึง 12.4% เมื่อเทียบกับเพียง 6.6% ในตลาดพัฒนาแล้ว (DMs)
เรื่อง "หุ้น" คงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯให้น้ำหนัก Overweight ต่อหุ้นยุโรป ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษี การจัดสรรการลงทุนตามประเทศ ยังคงขึ้นอยู่กับผลของการเจรจาข้อตกลงการค้าช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจมีผลลัพธ์สองทางอย่างชัดเจน
โดยคงสมมติฐานฐานว่าสหรัฐฯจะเลือกแนวทางที่เป็นกลางและลดความตึงเครียดกับทั้งจีน และยุโรป ภายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เรายังคงน้ำหนัก “Underweight” เล็กน้อยในหุ้นสหรัฐฯ
เนื่องจากการคาดการณ์กำไรของตลาด ยังคงสูงเกินจริงที่ระดับ 11% เทียบกับ 7% สำหรับ ตลาดพัฒนาแล้ว และทิศทางค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่ากดดันให้นักลงทุนต้องกระจายการลงทุน มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้แนวโน้ม ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของ Nvidia ยังคงตอกย้ำธีมการเติบโตของ AI ว่ายังมีความแข็งแรง
ขณะที่โมเมนตัมในกลุ่มเทคโนโลยีคาดว่าจะช่วยชดเชยจุดอ่อน ในกลุ่มที่ไม่ใช่เทคโนโลยีของสหรัฐฯได้บางส่วน ยังคงให้น้ำหนัก “Overweight” ต่อหุ้นยุโรป จากความกังวลด้านความยั่งยืน ทางการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการจัดสรรการลงทุน รวมถึงแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้น ของงบประมาณด้านกลาโหมในฝั่งเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) หุ้นยังคงมีมูลค่าที่น่าดึงดูด โดยมีส่วนลดอยู่ที่ 33% เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว และคาดว่ากำไรในปี 2025 จะเติบโตถึง 12.4%
"ตราสารหนี้" ใช้กลยุทธ์ “Duration Barbell” ท่ามกลางความกังวลด้านการคลัง และเงินเฟ้อ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นความยั่งยืนทางการคลังหลังอัตราผลตอบแทน พันธบัตร ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทาน โดยอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และญี่ปุ่น (JGBs) อายุยาวที่ปรับตัวพุ่งขึ้น
สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะยืดเยื้อจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน และการเร่งตัวของปริมาณเงินในระบบ ทั้งในระยะ 3 เดือน และ 12 เดือนข้างหน้าจึงปรับลดน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ลงสู่ระดับ “Neutral” เนื่องจากคาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับสูง และส่วนต่างอัตราผล ตอบแทนระยะสั้น-ยาว มีแนวโน้มชันขึ้นสำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนยังคงเน้นลงทุนในกลุ่ม คุณภาพระดับ A/BBB และใช้กลยุทธ์ Duration Barbell
โดยเน้นลงทุนในตราสารระดับ Investment Grade ที่มีอายุตั้งแต่ 2-3 ปี และ 7-10 ปี กลยุทธ์ Liquid+ อายุ 2-3 ปี ของเรายังคงมีความเหมาะสมในภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง ทั้งด้าน การชะลอตัว และเงินเฟ้อ (stagflation) ขณะที่ตราสารหนี้ High Yield (HY) เรายังคงมีมุมมองระมัดระวัง เนื่องจากความเสี่ยงด้านการขยายตัวของส่วนต่าง อัตราผลตอบแทน (credit spread widening)
"สินทรัพย์ทางเลือก" ให้น้ำหนัก Overweight ทองคำ พร้อมเป้าหมายที่ USD 3,765 ต่อออนซ์ ภายในไตรมาส 4/68 มองหาโอกาสในสินทรัพย์นอกตลาดที่สร้างรายได้ประจำ
ทองคำยังคงได้รับประโยชน์ไม่ว่าผลลัพธ์ทางนโยบายของ “ทรัมป์ 2.0” จะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม อีกด้านหนึ่งมาตรการลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบของทรัมป์จะยิ่งตอกย้ำความกังวลระยะยาว เรื่องการลดค่าเงินของสหรัฐฯ (monetary debasement) ในอีกด้านหนึ่งมาตรการกีดกันทางการค้า และนโยบายที่คาดเดายากจะกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และ กระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ
สินทรัพย์นอกตลาด เราแนะนำให้นักลงทุนมองหาโอกาสในกลุ่มการเข้าซื้อกิจการและ Private Equity ที่มุ่งเน้นบริษัทขนาดกลางซึ่งมักมีระดับราคาซื้อขาย(valuation)ที่ไม่สูงมากจึงมีช่องว่างในการสร้างมูลค่าในระยะยาวได้มากกว่า อีกทั้งธุรกรรมกลุ่มนี้มักใช้ภาระหนี้ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับดีลขนาดใหญ่ ถือเป็นข้อได้เปรียบในสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง
จับตา "ภาษี-การเมือง" ถ่วงดัชนี
นางสาวจันทร์เพ็ญ ศิริธนารัตนกุล กรรมการบริหารอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า วางเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2568 ที่ระดับ 1,300 จุด แต่หากไทยโดนภาษีทรัมป์ 36% หรือภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับลงมาที่ระดับ 1,100-1,000 จุดได้
หรือหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดคือ เผชิญทั้งภาษีที่สูงและการเมืองไทยเข้าสู่การยุบสภา ดัชนีมีโอกาสหลุด 1,000 จุดได้เพียงแต่นักวิเคราะห์ยังไม่ได้ประเมินถึงกรณีเลวร้ายดังกล่าว
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในไทยมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1-2 ครั้งในปีนี้ และ 1 ครั้งในปีหน้าส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปี69 มีโอกาสลงมาอยู่ที่ระดับ 1% ด้านค่าเงินบาทคาดปีนี้แข็งค่าที่ระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์ และปีหน้าบาทแข็งที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนคงเน้นหุ้นที่ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยขาลงและภาษีทรัมป์กระทบจำกัด ดังนี้
ห้างสรรพสินค้า CPN
กลุ่มโรงพยาบาล PR9, BDMS
กลุ่มบริโภคในประเทศ CPALL, COM7, OSP
กลุ่มสื่อสาร ADVANC
กลุ่มพลังงาน BCP, GULF
กลุ่มไฟแนนซ์ MTC
กองรีทฯ WHAIR