ไม่หวั่น"เวียดนาม-อินโดฯ" ปิดดีลภาษีสหรัฐฯ “คต.” ขอดูไส้ใน มั่นใจทันเส้นตาย 1ส.ค.
วันนี้ ( 17 ก.ค.2568) นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)เปิดเผยถึงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศปิดดีลเจรจาภาษีกับอินโดนีเซีย เรียกเก็บที่อัตรา 19% ว่า สินค้าของอินโดนีเซีย แต่ยังไม่เห็นอัตราภาษีสำหรับสินค้า Transshipment จึงยังไม่รู้ว่าจะมีสินค้าใดของไทยบ้างที่จะเสียเปรียบการแข่งขัน ต้องรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนออกมาก่อน ถึงจะประเมินได้ ในขณะที่เวียดนาม ที่ถูกเก็บ 20% สำหรับสินค้าเวียดนาม และอีก 40% สำหรับสินค้าที่เปลี่ยนถ่ายลำเรือที่เวียดนาม (Transshipment) ซึ่งจะต้องดูว่ามีสินค้าอะไรบ้าง
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
ในส่วนของกรม เกี่ยวข้องกับการเจรจากับสหรัฐฯ คือ การจัดทำข้อมูลถิ่นกำเนิดสินค้าของสินค้าไทย ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ตามกฎการใช้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มภายในภูมิภาค (Regional Value Content : RVC) ซึ่งเป็นการใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศไทย (Local Content) และในภูมิภาค รวมถึงจากสหรัฐฯ โดยปัจจุบัน สหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบแบบ RVC เลย ซึ่งต่างจากการส่งออกไปประเทศอื่น เช่น อาเซียน ที่กำหนดสัดส่วนการใช้ RVC ไว้ที่ 40%
โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้กฎเกณฑ์ Substantial Transformation หรือสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีถิ่นกำเนิดจากไทย หากผลิตจากวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบที่ไทยนำเข้าจากประเทศอื่น จะต้องนำวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบนั้น มาเปลี่ยนแปลงสภาพที่มากพอ หรืออย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้ได้เป็นสินค้าสำเร็จรูป ก็จะได้ถิ่นกำเนิดไทยและส่งออกไปสหรัฐฯได้ แต่ก่อนส่งออกกรมจะมีการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองถิ่นกำเนิด หากพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะถือว่าเป็นสินค้าที่แอบอ้างถิ่นกำเนิดไทย ซึ่งจะไม่ได้ใบรับรองส่งออก และส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวอีกว่า กรมได้จัดทำข้อมูล RVC ร่วมกับภาคเอกชน และได้ส่งข้อมูล RVC ของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปให้ทีมเจรจาแล้ว โดยการจัดทำ RVC จะเป็นจุดสำคัญที่จะดูว่าศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะถูกเก็บภาษีตอบอัตราเท่าไรก็ตาม ซึ่งจะทำให้โครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยต้องปรับเปลี่ยนไปแน่นอน
เพราะจะทำให้ไทยใช้วัตถุดิบในประเทศ และของสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีถิ่นกำเนิดไทย จะต้องดูว่ามูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศ และใช้วัตถุดิบจากสหรัฐฯ เพื่อมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ มีเท่าไร ซึ่งสหรัฐฯ จะกำหนดที่เท่าไร ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกและรมว.คลัง หัวหน้าทีมไทยแลนด์ เจรจาภาษีสหรัฐฯ
คาดว่า การเรียกเก็บภาษีตอบโต้จากไทย อาจใช้โมเดลเดียวกับของเวียดนาม ที่กำหนดเป็น 2 อัตรา คือ สินค้าที่ผลิตจากไทย และสินค้าเปลี่ยนถ่ายลำเรือในไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ห่วงว่า อาจมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นมาแอบอ้างถิ่นกำเนิดไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เชื่อว่าสิ่งที่ไทยเสนอให้สหรัฐฯ จะทำให้เจรจาได้ คาดว่า จะเจรจาจบก่อนวันที่ 1 ส.ค.2568 แน่นอน
ทั้งนี้ เมื่อคืนวันที่ 16 ก.ค.68 ตามเวลาไทย ทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ได้หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อพิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติมของไทย ที่จัดทำใหม่ ซึ่งไทยได้เสนอการลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐฯเป็น 0% ในสินค้าหลายหมื่นรายการ และยังมีข้อเสนออื่นๆ ที่ยื่นให้สหรัฐฯอีก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้แล้ว โดยได้แบ่งสมมุติฐานการทำมาตรการเยียวยาไว้ 2 ระดับ คือ ถ้าถูกเก็บภาษี 36% จะมีสินค้าใดได้รับผลกระทบ และผลกระทบลงลึกถึงระดับใด เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ และหากถูกเก็บ 20% จะกระทบสินค้ากลุ่มใด ผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง
อ่านข่าว:
ทีมไทยแลนด์ นัดถกสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอ 0% สินค้าหลายหมื่นรายการ
พาณิชย์ ยันไม่มีดีลตั้งฐานทัพ เน้นเจรจาการค้าลดภาษีเพียงเดียว