ทบทวน "งบกระตุ้นเศรษฐกิจ" อปท. 4 หมื่นล้าน สะพัดโยกงบรับมือภาษีทรัมป์
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาทบทวน "งบกระตุ้นเศรษฐกิจ" ล็อตที่ 2 ภายใต้วงเงินที่เหลืออีกกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท หลังพบข้อมูลคำขอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้งบประมาณ 157,000 ล้านบาท ของจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล และอบต.) ที่เสนอเข้ามามีตัวเลขไม่ตรงกัน แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนแรกคือ คำขอจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ที่ส่งมายังสำนักงบประมาณ จำนวน 8,010 รายการ วงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท อีกส่วนคือคำขอที่ผ่านการตรวจสอบระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง มีจำนวน 9,821 รายการ วงเงินกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งสองส่วนมีตัวเลขที่ไม่ตรงกันค่อนข้างมาก
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในส่วนของข้อเสนอโครงการที่มีตัวเลขไม่ตรงกัน ที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลว่า เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้ง มีการแก้ไขวงเงิน มีการแก้ไขหน่วยดำเนินการ มีการเปลี่ยนแปลงรายการ มีการแก้ไขชื่อรายการ และมีชื่อรายการซ้ำกันทั้ง อบต. ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียดของแต่ละรายการอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ตามมีการนำเสนอว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเจรจาเรื่องภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่ยังไม่จบลงโดยเร็ว ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจปี 2568 มีความเสี่ยงชะลอตัวลงจากที่ประเมินไว้ รัฐบาล จึงอาจต้องวางแผนสำรองด้วยการเสนอโครงการใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ตรงจุดจะมีผลดีมากกว่า
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณากรอบระยะเวลาของโครงการที่เสนอเข้ามาแล้ว ยังพบอุปสรรคสำคัญ นั่นคือการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของจังหวัดและท้องถิ่น อาจจะไม่ทันตามกำหนดภายในวันที่ 30 กันยายน 2568 เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และยังทับซ้อนกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำ ปี พ.ศ. 2569 ในวาระที่ 2 และ 3 ในช่วงเดือนสิงหาคมด้วย
ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ทบทวนการใช้งบประมาณดังกล่าวที่เหลืออยู่ 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การตรวจสอบข้อเสนอโครงการ และกรอบระยะเวลา (Timeline) เป็นหลัก
โดยขอให้การดำเนินโครงการต้องปรับมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์ และการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงกรณีดังที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (22 กรกฎาคม 2568) ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ยังไม่มีข้อสรุปออกมา โดยในช่วง 1-2 วันนี้ จะนัดประชุมกันอีกครั้ง