ก.ล.ต. เอาผิดทางแพ่ง 3 ราย สั่งปรับ 7.16 ล้าน กรณีอินไซเดอร์หุ้น AH
ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ 1) นายวิโรจน์ พัชรวัฒนกูล 2) MRS. TEO LEE NGO และ 3) MR. KOH LIAN KING กรณีซื้อหุ้น บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH
โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน หรือร่วมกันซื้อหุ้น AH โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน แล้วแต่กรณี และให้ผู้กระทำผิดชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 7,167,579 บาท รวมทั้งกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ในปี 2566 และตรวจสอบเพิ่มเติม พบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3 - 14 พฤศจิกายน 2565
ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 ของ AH ที่มีกำไรสุทธิ 600.68 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานไตรมาสก่อนหน้าของปีเดียวกัน และไตรมาสเดียวกันของปี 2564
อันเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อราคาหุ้น AH ซึ่งเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 18.03 น. พบการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิด 3 ราย ดังนี้
1) นายวิโรจน์ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทย่อยของ AH ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในได้ และเป็นผู้อยู่กินฉันสามีของผู้บริหารรายหนึ่งของ AH ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน ได้ซื้อหุ้น AH โดยใช้ข้อมูลภายในดังกล่าวในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง
อันเป็นความผิดฐานซื้อหลักทรัพย์โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(2) และ(5) ซึ่งมีบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 296 มาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
2) MRS. TEO LEE NGO ซึ่งเป็นกรรมการของ AH ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในได้ และเป็นภรรยาของผู้บริหารรายหนึ่งและเป็นมารดาของผู้บริหารอีกรายหนึ่งของ AH ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน
ได้ร่วมกับ (3) MR. KOH LIAN KING ซื้อหุ้น AH ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ MR. KOH LIAN KING โดยใช้ข้อมูลภายในดังกล่าว ซึ่งสามารถแบ่งสัดส่วนหุ้น AH ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ชัดเจนว่าส่วนใดเป็นของ MR. KOH LIAN KING และส่วนใดมี MRS. TEO LEE NGO เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
อันเป็นความผิดฐานซื้อหลักทรัพย์โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) 244(3) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 242(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ ซึ่งแก้ไขโดยฉบับที่ 5 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับ
ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 มาตรา 317/5 และมาตรา 317/11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ ซึ่งแก้ไขโดยฉบับที่ 5
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
- ให้นายวิโรจน์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 5,168,972 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน
- ให้ MRS. TEO LEE NGO ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,302,885 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 14 เดือน
- ให้ MR. KOH LIAN KING ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 695,722 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ :
*มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ให้การกระทำความผิดอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้
อ่านรายละเอียด “การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Sanctions)”