‘ชาญชัย-หมอวรงค์’ เผยคดี ‘ทักษิณ’ ชั้น 14 เริ่มใกล้เคียงความจริง เตรียมเปิดข้อมูลเด็ด 18 ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ศาลฎีกา ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันนี้มี นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.ประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และนายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ติดตามการไต่สวนคดีนี้อย่างใกล้ชิด
นายชาญชัย ระบุว่า การไต่สวนในวันนี้มีพยานรวม 16 ปาก โดยหลายประเด็นเริ่มใกล้เคียงความจริงมากขึ้น โดยเฉพาะข้อสงสัยที่เชื่อมโยงถึงโรงพยาบาลตำรวจ และกระบวนการส่งตัวนายทักษิณออกนอกเรือนจำ ซึ่งมีข้อพิรุธหลายจุด ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับคดี เนื่องจากมีความพยายามจากฝ่ายจำเลย โดยเฉพาะทนายความของนายทักษิณ ที่ไม่ต้องการให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ลบข้อความบางส่วน แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นห้ามสื่อเข้าฟังการพิจารณา เพียงแต่ขอให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม
“ถ้าผมเป็นทนายของนายทักษิณ ผมจะขอให้เปิดเผยทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพราะหากมั่นใจว่าไม่มีความผิด การปกปิดย่อมไม่จำเป็น” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้คดีใกล้เข้าสู่ความจริงแล้ว และมีข้อมูลภายในจากกลุ่มบุคคลใกล้ชิดว่าอาจมีการดำเนินการให้นายทักษิณถูกจำคุกในบางเงื่อนไข และในวันที่ 18 ก.ค. นี้ จะมีการแถลงข้อมูลเพิ่มเติมต่อสาธารณชน โดยจะชี้ให้เห็นว่า เหตุใดจึงมีรายชื่อนายทักษิณในกลุ่มที่ต้องชำระเงินค่ารักษา แม้ยังไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง และจะเปิดโปงกลไกที่เป็นต้นตอของปัญหานี้ ซึ่งสร้างความวุ่นวายในกระบวนการยุติธรรม
ด้าน นพ.วรงค์ กล่าวว่า การไต่สวนวันนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงเช้าเป็นการเบิกความจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ส่วนช่วงบ่ายเป็นพยานฝ่ายแพทย์ ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณที่อ้างว่าป่วยด้วยโรคหัวใจ แต่จากข้อมูลพบว่า อาการทุเลาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็มีความสามารถในการรักษาโรคดังกล่าวได้
นพ.วรงค์ ยังชี้ว่า ศาลได้ตั้งข้อสังเกตถึงการประเมินสุขภาพและการอนุมัติให้พักโทษ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติในวันที่ 22 ส.ค. ซึ่งมีเอกสารแสดงว่ามีการเตรียมความพร้อมในการส่งตัวออกไปรักษานอกเรือนจำล่วงหน้า ทั้งที่ตามปกติจะต้องมีอาการฉุกเฉินเสียก่อน พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดอาการจึงหนักต่อเนื่องถึง 108 วัน ก่อนจะกลับมาทุเลาในวันถัดไป
ในประเด็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจให้ผู้ต้องขังพักรักษาตัว ศาลได้ซักถามพยานถึงขั้นตอนการอนุมัติระยะเวลา 30 วัน, 60 วัน และ 120 วัน ซึ่งพบว่ามีความคลุมเครือ บางฝ่ายระบุว่าเป็นอำนาจของราชทัณฑ์ ขณะที่อีกฝ่ายชี้ว่าเป็นอำนาจของแพทย์ ทำให้เกิดการโยนความรับผิดชอบไปมา
ขณะที่ นายสมชาย ให้ความเห็นว่า การรักษาตัวของผู้ต้องขังนอกเรือนจำนั้นสามารถทำได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะไปเช้าเย็นกลับ กรณีที่เกิน 30 วัน หรือแม้กระทั่ง 120 วัน มีอยู่ไม่มาก ตามรายงานของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ที่เคยเสนอต่อ ป.ป.ช. ระบุว่า มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่รักษาตัวเกิน 120 วัน ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่พิษณุโลก, ผู้ป่วยจิตเวชที่โรงพยาบาลกัลยาณ์ราชนครินทร์, ผู้ต้องขังที่รักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งแม้อาการทุเลาแล้วก็ยังไม่ถูกส่งกลับเรือนจำ
โดยกรณีของนายทักษิณ มีคำวินิจฉัยจากแพทย์โรงพยาบาลตำรวจเป็นตัวกำหนด ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล ทั้งนี้คดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด โดยในสัปดาห์หน้า ศาลจะมีการไต่สวนพยานเพิ่มเติม และคาดว่าอาจมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นหลักฐานสำคัญต่อรูปคดี