สภา กทม. ไฟเขียวทำ Feeder แก้ปัญหาคนกทม.เดินทางหลายต่อ รองรับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
วานนี้ (23 กรกฎาคม) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 4) วิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก. เขตบางรัก เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครศึกษาแนวทางและพัฒนาโครงข่ายระบบรถรับส่งต้นทาง-ปลายทาง (Feeder) ให้ครอบคลุมเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร
วิพุธอภิปรายว่า วันนี้เรากำลังเข้ามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของ กทม. กับโอกาสในการสร้างเมืองที่กำลังเชื่อมถึงทุกคนเข้าด้วยกัน ในฐานะคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด 3 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 รัฐบาลกำลังนำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายมาปฏิบัติจริง นี่คือโอกาสที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของ กทม. เปลี่ยนจากโครงสร้างพื้นฐานกลายเป็นเครื่องมือสร้างโอกาส ให้ทุกคนในเมืองเชื่อมต่อกันอย่างเท่าเทียม
“ถึงแม้เราไม่ใช่พระเอก แต่เราคือ ผู้เล่นหลัก ที่เป็นกุญแจสำคัญที่จะลุกขึ้นแสดงบทบาททำให้ขนส่งมวลชนเข้าถึงทุกคน เราทุกคนรู้ดีว่านโยบายนี้ดีแค่ไหน ลดค่าครองชีพได้แค่ไหน แต่ถ้าเกิดเราไม่มีเส้นทางที่เชื่อมต่อให้พวกเขา ถ้าเราไม่มีระบบการเดินทางที่เชื่อมถึงทุกพื้นที่ คนจำนวนมากจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โอกาสนี้ก็จะเป็นโอกาสที่ผ่านมาและผ่านไปเท่านั้น” วิพุธกล่าว
วิพุธกล่าวอีกว่า ปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือการเสียเวลาในการเดินทาง เสียเงินหลายต่อ และถอดใจกับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพราะขาดการเชื่อมต่อที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นธรรม คนเมืองต้องการทางเลือก การเดินทางของเมืองจะดีขึ้นได้ ระบบ Feeder สามารถลดเรื่อง PM 2.5 คาร์บอนไดออกไซด์ และรถยนต์ส่วนบุคคลภายในเมือง
วิพุธยังอธิบายด้วยว่า Feeder ประกอบด้วยรถโดยสารประจำทาง รถสองแถว รถสี่ล้อรับจ้าง แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก รถจักรยานยนต์สาธารณะ รวมไปถึง On-Demand ที่ให้บริการตามที่ต้องการ กทม. ควรมีบทบาทเป็นคนบริหาร Feeder ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ออกแบบเส้นทางเชื่อมต่อขนส่งมวลชนหลัก เปิดเวทีรับฟังความต้องการของผู้โดยสาร รวมถึงดูแลรายได้และต้นทุน มาตรฐานการให้บริการ การให้ใบอนุญาต ฯลฯ และขอให้สภา กทม. เร่งศึกษาระบบ Feeder อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชน ทำให้เป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน
ทั้งนี้ มี ส.ก. จากหลายเขตที่สนับสนุนญัตติดังกล่าว อาทิ ส.ก. เขตบางเขน ระบุว่าพื้นที่มีรถไฟฟ้าในพื้นที่แค่สายสีเขียวและสายสีชมพู การเดินทางมายังสถานีรถไฟฟ้าต้องใช้รถส่วนตัวหรือรถสองแถวที่มีน้อยมาก ระบบ Feeder จะเพิ่มโอกาสเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
ส.ก. เขตมีนบุรี เสนอให้นำผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาขยายผลเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มาลงทุน และยังชี้ให้เห็นว่าเขตตะวันออกของกทม. มีคูคลองมากมาย แต่การเชื่อมโยงทางน้ำไม่ถึง 10% ขณะที่ ส.ก. เขตคลองสามวา ระบุว่า ต้องการ Feeder เนื่องจากในเขตมีประชากรมากเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ไม่มีรถไฟฟ้าของตัวเอง
ขณะที่ วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า กทม. มี Feeder ให้บริการฟรีอยู่ 6 เส้นทาง ซึ่งควรจะให้บริการช่วงเช้ากับช่วงเย็นในวันธรรมดา ขณะนี้ กทม. กำลังนำรถที่มีอยู่ในสัญญาจ้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอยู่ระหว่างการเจรจากับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เพื่อเปิดให้เอกชน หรือ ขสมก. มาเป็นผู้ให้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับทางเท้ารอบสถานีรถไฟ มีจักรยาน เส้นทางจักรยานเสริมเข้ามาเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้า และไม่ได้ละเลยการสัญจรทางคลอง แต่มีผู้ใช้จำนวนไม่มากจึงต้องศึกษารูปแบบ On-Demand เพื่อลดค่าใช้จ่าย
จากนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าวและมีการส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป