คลังสมองซินหัวเผยแนวทางอนุรักษ์ ‘มรดกวัฒนธรรม’ ของจีน
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
เจิ้งโจว, 25 ก.ค. (ซินหัว) — วันศุกร์ (25 ก.ค.) สถาบันซินหัว คลังสมองของสำนักข่าวซินหัว เผยแพร่รายงาน “ร่วมดูแลสมบัติแห่งอารยธรรมมนุษย์ : ปรัชญาและแนวปฏิบัติของจีนในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในยุคใหม่” ความยาว 23,000 อักษรจีน ซึ่งทบทวนแนวปฏิบัติของจีนในการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม
รายงานฉบับนี้ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ วารสาร และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ระบุว่าจีนได้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่เคลื่อนย้ายไม่ได้กว่า 7.6 แสนแห่ง วัตถุทางวัฒนธรรมที่เคลื่อนย้ายได้ของรัฐ 108 ล้านชิ้น (หรือชุด) และทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รวมเกือบ 8.7 แสนรายการ
นับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ในปี 2012 พรรคฯ ซึ่งยึดมั่นหลักการ “ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์” ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์แบบองค์รวมและเป็นระบบ รวมถึงจัดการสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาอย่างเหมาะสม
รายงานเสริมว่าอารยธรรมจีนยกย่องชื่นชมการเข้าใจและการเคารพซึ่งกันและกันในหมู่อารยธรรมที่แตกต่างกันมาโดยตลอด และจีนมีส่วนร่วมในธรรมาภิบาลโลกเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมด้วยมัศนคติของความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ สถาบันซินหัวเรียกร้องการดำเนินการตามแผนริเริ่มอารยธรรมโลก (GCI) ที่จีนเสนอ กระตุ้นนานาประเทศพยายามคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมร่วมของมนุษยชาติ และสนับสนุนความหลากหลายของอารยธรรมโลกด้วยใจที่ไม่แบ่งแยกและเปิดกว้าง