ศาลฎีกาไต่สวนพยานคดี “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 "หมอวรงค์" ตั้ง 3 ข้อสังเกต
ศาลฎีกาไต่สวนพยานคดี “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 "หมอวรงค์" ตั้ง 3 ข้อสังเกต
วันที่ 4 ก.ค.68 ศาลฎีกานัดไต่สวนพยาน 5 ปาก คดี “ทักษิณ” รักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ทนายวิญญัติงดเผยเนื้อหา เบรกวิเคราะห์คดีในที่สาธารณะ หวั่นกระทบความเป็นธรรม ขณะที่ “หมอวรงค์–หมอตุลย์–ชาญชัย–สมชาย” ร่วมสังเกตการณ์ ตั้งข้อสังเกตขั้นตอนส่งตัว “ผิดปกติ-เลือกโรงพยาบาลเอง-ไม่ผ่านฉุกเฉิน”
หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีการนัดไต่สวนพยานเพิ่มเติมในคดีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 เพื่อตรวจสอบว่าเป็นการดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายราชทัณฑ์ หรือมีการฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือไม่ วันนี้ พยานที่ขึ้นเบิกความประกอบด้วย แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายนายทักษิณ และผู้ออกใบส่งตัวล่วงหน้าเข้าสู่กระบวนการรับผู้ต้องขังใหม่ รวมถึง นายแพทย์นทพร ปิยะสิน, นายธัญพิสิษฐ์ พยาบาลเวรเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, นางสาวจิราพร มีนวลชื่น และนางสาวณิชามล มากจันทร์ โดยมีบุคคลร่วมสังเกตการณ์เช่นเดิม ได้แก่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ และนายสมชาย แสวงการ
นพ.วรงค์ เปิดเผยว่า ตนได้ตั้งข้อสังเกต 3 ประการจากการฟังไต่สวน ได้แก่ 1) การปฏิบัติการส่งตัวไปโรงพยาบาลดูเหมือนจะเป็นการดำเนินการของพยาบาลเวรเป็นหลัก โดยแพทย์เวรแทบไม่รู้เรื่อง 2) โรงพยาบาลราชทัณฑ์อยู่ใกล้แต่กลับใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมงในการส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ 3) พยาบาลเวรเป็นผู้เลือกปลายทางในการรักษาเอง ซึ่งไม่ควรเป็นหน้าที่ของพยาบาล
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลตำรวจอยู่คนละตึกกับชั้น 14 หากเป็นกรณีฉุกเฉินจริงควรส่งเข้าห้องฉุกเฉินก่อน ไม่ใช่ส่งตรงไปชั้น 14 ซึ่งไม่มีความเร่งด่วนใด ๆ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ากรณีนี้สะท้อนความผิดปกติในกระบวนการส่งตัว
นายชาญชัย กล่าวขอบคุณศาลที่เปิดเผยการพิจารณาคดี ทำให้ข้อเท็จจริงหลายเรื่องเริ่มปรากฏ โดยเฉพาะในประเด็นที่เคยไม่ทราบมาก่อน
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ เปิดเผยภายหลังการไต่สวนว่า ขอไม่เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับพยาน 5 ปากในวันนี้ เนื่องจากศาลได้มีคำสั่งชัดเจนให้งดนำเสนอข้อมูลคำเบิกความ ข้อเท็จจริง และข้อมูลสุขภาพต่อสาธารณะ เพื่อป้องกันการสับสนหรือการตีความผิดจากผู้รับสาร ตนยอมรับว่า เป็นผู้ยื่นขอให้ศาลออกข้อกำหนดดังกล่าว หลังพบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์คดีโดยอ้างข้อมูลจากการไต่สวน ซึ่งอาจกระทบต่อพยานปากถัดไปในอนาคต โดยศาลจะนัดไต่สวนเพิ่มเติมในวันที่ 8, 15, 18 และ 25 กรกฎาคมนี้ พร้อมมีพยานเพิ่มอีก 2 ปากในวันที่ 25 ก.ค. เช่นกัน
ส่วนกรณีการจำกัดผู้เข้าฟัง นายวิญญัติกล่าวว่า ได้ยื่นขอจำกัดในบางกรณี แต่ศาลยังไม่อนุมัติ เพราะเห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องปิดการไต่สวนต่อสาธารณะ โดยให้ยื่นคำร้องเป็นนัด ๆ ไป โดยนายทักษิณไม่ได้แสดงความกังวลใด ๆ ต่อคดี เพราะอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถเลือกได้เองว่าจะเข้ารับการรักษาที่ไหน ทุกขั้นตอนเป็นไปตามระบบของราชทัณฑ์และกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ศาลยังคงเดินหน้าไต่สวนพยานอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นตรวจสอบความถูกต้องของขั้นตอนการส่งตัว การวินิจฉัยทางแพทย์ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เรือนจำและโรงพยาบาลตำรวจอย่างละเอียด