รองเท้ายั่งยืนจากพืช ย่อยสลายได้–ไม่ทิ้งไมโครพลาสติก
รองเท้าผ้าใบรุ่นใหม่ล่าสุดจาก แบรนด์แฟชั่น Stella McCartney ได้รับการออกแบบให้สามารถย่อยสลายได้ในระบบปุ๋ยหมัก โดยเฉพาะพื้นรองเท้าที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพชนิดใหม่ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด ต่างจากรองเท้ายั่งยืนทั่วไปที่แม้ใช้วัสดุรีไซเคิลในส่วนบนของรองเท้า แต่ยังคงใช้พลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในส่วนพื้นรองเท้า
พื้นรองเท้ารุ่นใหม่นี้มีกลิ่นอบเชย เนื่องจากย้อมด้วยเศษอบเชยแทนการใช้สีสังเคราะห์ ทั้งยังประกอบด้วยส่วนผสมจากพืชชนิดอื่น เช่น เมล็ดละหุ่ง และสามารถนำไปรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้หลังการใช้งาน
ก่อนหน้านี้ Stella McCartney เคยเปิดตัวรองเท้าผ้าใบที่ใช้วัสดุหนังจากองุ่นและ TPU รีไซเคิลในปี 2022 แต่ยังไม่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่หมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นรองเท้ายังทำจากพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้
พลาสติกทั่วไปในพื้นรองเท้า เช่น TPU หรือ EVA มีความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสูงในการผลิต โอกาสในการรีไซเคิลที่ต่ำ และความคงทนในหลุมฝังกลบที่อาจยาวนานหลายร้อยปี อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกเมื่อใช้งาน
เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ทีมของ Stella McCartney ได้ร่วมมือกับ Balena สตาร์ตอัปด้านวัสดุศาสตร์จากอิสราเอลและอิตาลี ซึ่งเชี่ยวชาญด้านไบโอโพลีเมอร์ พัฒนาวัสดุชื่อ BioCir Flex ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติกดั้งเดิมในแง่ความยืดหยุ่นและทนทาน แต่สามารถย่อยสลายได้ในระบบอุตสาหกรรมหรือรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้
ยาเอล วานตู หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Balena กล่าวว่า ความท้าทายที่แท้จริงคือการสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการย่อยสลายกับสมรรถนะการใช้งาน วัสดุที่ย่อยสลายได้ส่วนใหญ่ในตลาดยังไม่สามารถทนต่อแรงกด การเสียดสี และความทนทานที่รองเท้าต้องการได้ แต่นั่นคือช่องว่างที่วัสดุของเราเข้ามาเติมเต็ม
ทั้งนี้ Balena ใช้เวลาร่วมสองปีในการร่วมพัฒนาวัสดุนี้กับ Stella McCartney ตั้งแต่การทดสอบในห้องแล็บจนถึงการผลิตจริง
รองเท้าผ้าใบรุ่น S-Wave สีขาว ซึ่งมีราคาขาย 550 ดอลลาร์ ใช้วัสดุจากป่านและเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมสับปะรดในส่วนบนของรองเท้า และเมื่อรองเท้าเสื่อมสภาพสามารถส่งกลับมายังแบรนด์เพื่อแยกชิ้นส่วน โดยแบรนด์ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลมากกว่าการทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตวัสดุใหม่
แม้ว่าวัสดุชีวภาพชนิดใหม่นี้จะมีต้นทุนสูงกว่าพลาสติก TPU ทั่วไป เนื่องจากกระบวนการผลิตจากพืชและระบบซัพพลายเชนแบบหมุนเวียนยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่บางแบรนด์ เช่น Stella McCartney ยินดีจ่ายเพื่อแลกกับความยั่งยืน
วานตูกล่าวว่า แบรนด์เหล่านี้มองเห็นคุณค่าของการเตรียมพร้อมรับกฎระเบียบใหม่ ลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้บริโภคที่คาดหวังให้สินค้าและแบรนด์สะท้อนค่านิยมของตนอย่างแท้จริง
ในทางทฤษฎี วัสดุนี้สามารถขยายการผลิตให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมได้กว้างขึ้น หากมีการสร้างห่วงโซ่อุปทานและระบบจัดการวัสดุเมื่อสิ้นอายุใช้งานให้แข็งแรงขึ้น
ตอนนี้สิ่งสำคัญคือการให้แบรนด์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการหมุนเวียน ไม่ใช่แค่ในคอลเลกชันพิเศษ แต่ในสินค้าหลักทั้งหมด เพราะแรงขับจากกฎระเบียบและความคาดหวังของผู้บริโภคกำลังเร่งการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่แล้ว
อ้างอิงข้อมูล
- balena.science
- fastcompany
- stellamccartney