28 กรกฎาคม 2568 วันเฉลิมพระชนมพรรษา ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’
วันที่ 28 กรกฎาคม 2568 ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 73 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10
"พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10" มีพระนามเดิมว่า สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 เมื่อเวลา 17.45 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร
หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อทำนุบำรุงสุขให้แก่ราษฎรของพระองค์ ทรงห่วงใยในสุขภาพ และพลานามัยของพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง
พระราชกรณียกิจตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" มาจนถึงปัจจุบัน ล้วนแต่มีเป้าหมาย เพื่อช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพสกนิกรทั่วทุกภูมิภาค
ในอดีตนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านกีฬาทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์ และในส่วนของพระองค์เอง
อาทิ การพระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จ นำเกียรติยศ มาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดีที่นำความสำเร็จ นำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ
เมื่อเดือนธันวาคม 2541 พระองค์ได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปในงานพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงริเริ่ม "โครงการจิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ"" โดยมีพระราชประสงค์ให้คนไทยร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ ทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโครงการจิตอาสาฯ ขุดลอกคูคลองกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำความสะอาด และปรับภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณประโยชน์ รอบพระราชวังดุสิต โดยจิตอาสาทุกคนได้รับสิ่งของพระราชทาน 3 อย่าง คือ หมวกแก๊ปสีฟ้า ผ้าพันคอสีเหลือง และสมุดบันทึกความดี
โครงการจิตอาสาได้ช่วยพัฒนาสังคมไทยในหลายมิติ เพื่อสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการช่วยเหลือราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศ ตลอดจนสร้างสังคมน่าอยู่ โดยไม่หวังผลตอบแทน
กิจกรรมในโครงการจิตอาสาต่าง ๆ เหล่านี้ยังช่วยปลูกต้นกล้าแห่งความดีให้คนไทยทุกเพศทุกวัยมาทำความดีด้วยหัวใจ
พระราชกรณียกิจเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงมีพระราชปฏิบัติมาอย่างช้านาน นับตั้งแต่ครั้งที่ยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก
ทั้งยังทรงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยทรงมีพระราชปณิธานให้เอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน
น้ำพระราชหฤทัยยังแผ่ไปถึงผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ ในการพระราชทานทรัพย์ จำนวน 345 ล้านบาทแก่ เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโครงการ "ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติศาสน์ กษัตริย์"
ให้ความช่วยเหลือพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แม้เป็นผู้ต้องขังแต่ต้องเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตามหลักมนุษยธรรมและสอดคล้องกับข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์ ข้อกำหนดแมนเดลา และข้อกำหนดกรุงเทพฯ ที่เป็นข้อกำหนดของสหประชาชาติ
อีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด จนมีความโดดเด่นอย่างมาก คือ "โคกหนองนาโมเดล" แนวคิดการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมที่นำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
โดยทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง "อารยเกษตร" เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความว่า “โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมแล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน"
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สมเด็จพระสังฆราช’ มีพระดำรัสถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค. 2568
- ในหลวงรัชกาลที่ 10 'สืบสาน รักษา ต่อยอด' โครงการในพระราชดำริ พัฒนาแหล่งน้ำทั่วไทย
- 'ในหลวง' พระราชทานสิ่งของแก่สถานสงเคราะห์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค. 68
ติดตามเราได้ที่