หอการค้า คาดทีมไทยแลนด์ยื่นขอลดภาษีสหรัฐฯ ต่ำกว่า 20% แลกหลายเงื่อนไข พร้อมหวังผลเจรจาออกมาในทางบวก
การเจรจาภาษีสหรัฐฯ ระหว่างทีมไทยกับสหรัฐฯ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะประเด็นการเสนอเงื่อนไขต่างๆ ของไทยเพื่อต่อรองขอปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ให้ต่ำกว่า 36% ซึ่งไทยได้ยื่นข้อเสนอที่น่าจับตา นั่นคือการลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐฯ เป็น 0% ในสินค้าหลายหมื่นรายการ
ขณะที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ ได้นำข้อเสนอชุดนี้ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เตรียมนำไปหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ผ่านการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในคืนวันนี้ (17 กรกฎาคม) ตามเวลาประเทศไทย
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ถึงมุมมองและความคืบหน้าในประเด็นนี้ ระบุว่า การหารือระหว่างไทยและ USTR ซึ่งการประกาศผลอย่างเป็นทางการจะต้องรอจากฝั่งสหรัฐฯ เท่านั้น ตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงรักษาความลับ (Non-disclosure Agreement: NDA)
“ทุกอย่างจะต้องให้อเมริกาพูด เราพูดไม่ได้เลย” ซึ่งรวมถึงการห้ามเปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลงจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ
ชงข้อเสนอ 0% ภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เป็นหนึ่งข้อเสนอขอลดภาษี
สำหรับหนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตาคือ ตัวเลขการลดภาษีนำเข้าที่ไทยเสนอให้สินค้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าไทยในอัตรา 0% เพื่อขอเจรจาแลกเปลี่ยนให้สหรัฐฯ ลดภาษีที่สหรัฐฯ เคยประกาศจะเก็บกับสินค้านำเข้าจากไทยอัตรา 36%
ดร.ชนินทร์ ระบุว่า คาดว่าทีมไทยแลนด์จะพยายามเจรจาให้ได้เงื่อนไขภาษีที่ต่ำที่สุด จึงมีความพยายามเสนอเงื่อนไขเพื่อให้การเจรจามีน้ำหนักและไม่เป็นรองประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ทยอยประกาศบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีความเป็นไปได้ว่าการยื่นข้อเสนอของไทยในภาพรวมน่าจะขอให้สหรัฐฯ พิจารณาลดภาษีมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20% และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละรายการสินค้า เนื่องจากมีหลายปัจจัยในการเจรจา เช่น สินค้าที่มีความอ่อนไหวสำหรับแต่ละประเทศ โดย ดร. ชนินทร์ คาดการณ์ว่ากว่า 80-90% ของรายการสินค้าที่นำเสนอจะมีการปรับลดภาษีเป็น 0% ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศไทย เนื่องจากอีก 10% ที่เหลือจะยังคงไว้ซึ่งการจัดเก็บภาษี
เชื่อทีมไทยแลนด์เน้นเจรจาแบบ Win-Win
นอกจากประเด็นเจรจาภาษี คาดว่าเงื่อนไขหลักที่ทีมไทยแลนด์ได้ปรับเพิ่มเข้าไปในการเจรจารอบใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย (Win-Win) นั่นคือการที่ไทยจะซื้อสินค้าที่สหรัฐฯ ต้องการให้เราซื้อ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ไม่กระทบต่อเกษตรกรไทย
“เรานำเข้าในสิ่งที่เราเอามาผลิตเพื่อการส่งออก ก็ลดต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก ในขณะเดียวกัน เกษตรกรรายย่อยต่างๆ ไม่กระทบอะไร ซึ่งหมายความว่าการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ขณะเดียวกันก็ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรภายในประเทศ” ดร.ชนินทร์ อธิบาย
ส่วนประเด็นที่ USTR ต้องการให้ไทยเปิดเสรีในภาคโทรคมนาคมและการเงินนั้น ดร.ชนินทร์ ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก แต่กล่าวว่าไทยค่อนข้างเปิดกว้างอยู่แล้วในด้านดิจิทัล ซึ่งไม่ได้มีการเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่างชาติแต่อย่างใด
ชูเงื่อนไขลดการขาดดุลการค้าเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน
หนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญของการเจรจา FTA ครั้งนี้คือการลดการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าทีมไทยแลนด์มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะลดการขาดดุลให้เหลือเท่าไรภายในระยะเวลากี่ปี โดยจะมีกรอบเวลาที่แน่นอน 1-2 ปี ไม่ยืดเยื้อ
ดร.ชนินทร์ ยังมองว่าการลดการขาดดุลการค้านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรและอาหารจะทำให้ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไทยจะส่งออกได้มากขึ้น และสหรัฐฯ ก็จะส่งมาไทยได้มากขึ้น ทำให้เกิดความสมดุลทางการค้า
โดยประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของความสัมพันธ์ทางการเมือง เพราะฐานเสียงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่ที่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ จะช่วยตอบสนองความต้องการของฐานเสียงเหล่านั้น โดยไทยเองก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี จากเงื่อนไขที่ทีมไทยแลนด์ นำเสนอต่อสหรัฐฯ ที่อยู่บนเงื่อนไขแบบ Win-Win ยังคงมีความคาดหวังว่าผลการเจรจาภาษีการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับไทยจะออกมาในทิศทางที่บวก