“วราวุธ” ประชุมบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติภาคกลาง และ 3 จว.ภาคเหนือตอนล่าง
ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติในพื้นที่ภาคกลาง และ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดอุทัยธานี พิจิตร นครสวรรค์) พร้อมมอบนโยบายและข้อเสนอแนะในการบริหารดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่น นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม รวมทั้ง นายประภัตร โพธสุธน สส. นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ นายสรชัด สุจิตต์ สส.พรรคชาติไทยพัฒนา และนายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ดร.อุดม โปร่งฟ้า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ดร.สุจิตรา ทรงมัจฉา เลขานุการนายก อบจ. สุพรรณบุรี เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ
ในที่ประชุมมีการนำเสนอแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับภาค โดย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (ผอ.สสว.) สสว.1 สสว.2 สสว.3 สสว.7 และการนำเสนอแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับจังหวัด โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 25 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 3 จังหวัด
ขณะนี้ กระทรวง พม. มีความคืบหน้าในการดำเนินงานในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ และการเตรียมความพร้อมในการรับมือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ 1) การจัดตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable : DCCV เพื่อขับเคลื่อนงานให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติเชิงรุก ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ การปรับตัว สำหรับกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ 2) เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2568 กระทรวง พม. ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ(MOU) “การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมในการรับมือ รวมถึงการวางแผนระดับพื้นที่ และเชื่อมโยงการวางแผนตามแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหน่วยงาน พม. ในส่วนกลาง ได้มีการดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา พม.ได้ร่วมมือกับธนาคารโลก (World Bank) ขับเคลื่อนงานด้านมิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Social Dimensions of Climate Change) ในภาพรวมได้เห็นสอดคล้องกันว่า บทบาทของกระทรวง พม. จะไม่เพียงอยู่ในช่วงของการช่วยเหลือฟื้นฟูเท่านั้น แต่จะต้องสามารถสนับสนุนข้อมูลให้แก่จังหวัด ด้วยการชี้เป้าได้ว่า กลุ่มเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัตินั้น คือใคร อาศัยอยู่ที่ไหน และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเฉพาะในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้สามารถจัดลำดับในการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที