‘เผ่าภูมิ’ เผยรัฐเตรียมมาตรการเงิน-การคลัง รับมือภาษีสหรัฐ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤตโลก” ว่า กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เตรียมทั้งมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางการคลัง ดูแลครอบคลุมทั้งผู้ส่งออก ซัพพลายเชนของผู้ส่งออก และภาคแรงงานที่ทำงานในภาคส่งออก รวมถึงผู้ผลิตในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าที่เข้ามาแข่งขัน
มาตรการทางการเงิน
- ได้เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 200,000 ล้านบาท จัดเตรียมไว้ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน เพื่อกระจายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปยังธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ
- มาตรการจาก EXIM Bank สำหรับสินเชื่อเดิม มีการพักหนี้และลดดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อใหม่ จะเชื่อมโยงกับการปล่อยซอฟต์โลน
- สนับสนุนการหาตลาดใหม่ มีการจัดเตรียมสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการค้นหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ รวมถึงใช้โครงสร้างสินเชื่อและโครงสร้างภาษีในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกขยายตลาด
มาตรการทางการคลัง
งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว 115,000 ล้านบาท เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณส่วนนี้จะลงไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กและกระจายตัว โดยเฉพาะในภาคการคมนาคมและการชลประทาน เพื่อสร้างการจ้างงานและกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการรับมือกับความไม่แน่นอนจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ยังมีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ (Economic Drive) นอกจากมาตรการเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลยังได้วางแผนระยะยาวในการสร้างเม็ดเงินและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยแนวคิดใหม่ ๆ โดยได้ผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการแล้วและกำลังส่งเข้าสู่สภาฯ
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบหรือหนี้นอกระบบ โดยกระทรวงการคลังกำลังร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนโครงการแก้ไขหนี้ก้อนใหญ่ ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อให้สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีของนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งถือเป็น "เงินใหม่" ที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องและไม่จำกัดอยู่เพียงงบประมาณของรัฐบาล
มั่นใจ 'พิชัย' ปิดดีลออกมาดีที่สุด
ส่วนความคืบหน้าในการเจรจาภาษีสหรัฐนั้น ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจารอบที่ 2 โดยมีการส่งข้อเสนอไปแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการหารืออย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าผู้ชนะไม่ใช่ผู้ที่ได้อัตราภาษีต่ำที่สุด แต่คือผู้ที่ได้ "ดีลที่ดีที่สุด"
สำหรับ “ดีลที่ดีที่สุด" ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับและสิ่งที่ประเทศจะต้องเสียไปในภาพรวม การพิจารณาจะไม่จำกัดอยู่แค่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะครอบคลุมถึงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก ภาคเกษตรกร หรือภาคปศุสัตว์
“ทีมไทยแลนด์ นำโดยท่านพิชัย ได้รับการยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และมีความกลมกล่อมที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทุกคนในประเทศ”
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การเจรจาเรื่องภาษีประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ ผลกระทบต่อผู้ส่งออก และสิ่งที่ประเทศจะต้องนำไปแลกเปลี่ยน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศด้วยเช่นกัน ทีมเจรจาของไทยกำลังพยายามรักษาสมดุลที่ดีที่สุดระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
ทั้งนี้ เมื่อมีการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม ที่มักถูกกล่าวถึงว่าได้รับอัตราภาษี 20% นั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวอธิบายว่า เวียดนามมีอัตราภาษี 2 เรท คือ 20% และ 40% ซึ่งความแตกต่างระหว่าง 20% และ 40% ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่เรียกว่า "RVC" หรือ Regional Value Content ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณการผลิตในภูมิภาคของสินค้านั้นๆ หากสินค้ามีการผลิตในภูมิภาคมาก ก็จะเสียภาษี 20% แต่ถ้าเกินเส้นแบ่งที่กำหนดก็จะเสีย 40%
โดยจากข้อมูลพบว่า เวียดนามส่วนใหญ่จะเสียภาษีในอัตรา 40% เหตุผลคือเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีความ "mature" หรือเติบโตเต็มที่มากกว่า ประเทศไทยมีการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ยาวและลึกกว่า ทำให้มีการใช้ local content หรือวัตถุดิบภายในประเทศมากกว่า หากต้องเผชิญกับอัตราภาษีเดียวกัน ประเทศไทยจะได้เปรียบมากกว่า
“การมองภาพรวมของประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขภาษีสุดท้ายเท่านั้น แต่ต้องดูว่าประเทศนั้นๆ ได้อะไร และเสียอะไรไปบ้างในภาพรวม และดูที่ผลประโยชน์สุทธิ สำหรับการเจรจาของประเทศไทยนั้น จะพิจารณาเส้นแบ่งของ RVC ที่ประเทศไทยจะได้รับว่าอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ นอกเหนือจากอัตราภาษีสุดท้ายเพียงอย่างเดียว”