‘ประเสริฐ’ เผย ผลการบังคับใช้ ‘พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์’ 3 เดือนยับยั้งมูลค่าความเสียหายได้แล้ว 5.8 พันล้านบาท
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ตามที่พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2568 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะการปราบปรามการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการหลอกลวงทางออนไลน์ที่มีผลกระทบต่อประชาชน โดยยกระดับ ‘ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC)’ เป็น ‘ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี’ หรือ ศปอท. ซึ่งเป็นกลไกหลักในการรับแจ้งเหตุ รับคำร้องทุกข์ สั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ประสานงานวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ครบวงจร และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบัน ศปอท. ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ ซึ่งมีผลทำให้การดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ปรากฎเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สำหรับผลการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงวันที่ 14 เมษายน – 20 กรกฎาคม 2568 (ระยะเวลา 3 เดือนหลังบังคับใช้ พ.ร.ก.) สามารถดำเนินการปิดกั้นเว็บพนันออนไลน์จำนวน 19,676 URLs และแพลตฟอร์มหลอกลวงจำนวน 14,143 URLs พร้อมระงับบัญชีธนาคารได้เป็นจำนวน 181,989 บัญชี
ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ ศปอท. สามารถจัดการคดีอาชญากรรมออนไลน์ได้แล้วจำนวน 88,995 คดี ช่วยยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวงประชาชนได้เป็นจำนวน 5,895.96 ล้านบาท
ขณะเดียวกันกระทรวงดีอี ยังได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในกระบวนการปิดกั้นเว็บไซต์ ซึ่งสามารถตรวจสอบ URLs ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายได้รวดเร็ว (เทียบเท่าการทำงานโดยเจ้าหน้าที่จำนวน 94 คน) ช่วยลดขั้นตอนการยื่นคำร้องต่อศาลลงได้ 5 วันทำการ และคาดว่าจะเพิ่มจำนวน URLs ที่ถูกสั่งปิดในปี 2568 ได้ถึงร้อยละ 70.7 (โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 175 URLs)
อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการกำหนดให้หน่วยงานเอกชนมีส่วนร่วมรับผิดในความเสียหาย เกิดการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รัดกุม ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดมูลค่าความเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังกำหนดมาตรการที่จะช่วยเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมิจฉาชีพ