จับตาพายุลูกใหม่ 2 ลูก ก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุบริเวณทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก โดยในคืนวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา พายุ "วิภา"ได้เคลื่อนตัวออกไปแล้ว และล่าสุดมีพายุก่อตัวมาอีก 2 ลูก บริเวณทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก แต่จากการคาดการณ์ทั้ง 2 ลูกนี้ ยืนยัน ยังไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ประชาชนไม่ต้องกังวล ขอให้ติดตามเป็นระยะๆ กับกรมอุตุนิยมวิทยา
สำหรับพายุ 2 ลูกใหม่ ถือเป็นพายุลูกที่ 7 และ 8 ประกอบไปด้วย
- พายุโซนร้อน ฟรานซิสโก (หมายถึง ชื่อของผู้ชาย ภาษาของชนเผ่าชามอร์โรในหมู่เกาะมาเรียนา เป็นพายุลูกที่ 7 จากการนับจำนวนพายุของ RSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น)
- พายุโซนร้อน ก๋อมัย (หมายถึง หญ้าเจ้าชู้ ตั้งชื่อโดยประเทศเวียดนาม เป็นพายุลูกที่ 8 จากการนับจำนวนพายุของ RSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น)
อนึ่งพายุวิภา ได้กลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน ปกคลุมบริเวณตอนบนของภาคเหนือคาดว่าจะอ่อนกำลังลงอีก โดยมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน ออกไปทางประเทศเมียนมาในช่วง 25-26 ก.ค. 68
อย่างไรก็ตามแม้จะอ่อนกำลังแต่จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณตอนบนของภาคเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยกำลังแรง จะส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 23-24 ก.ค. 68 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 มีดังนี้
- ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดนครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี และกาญจนบุรี
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 25 ก.ค. 68
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือหรืออพยพหากสถานการณ์อยู่ในสภาวะวิกฤตและติดตามประกาศจากกรมอตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุดุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง