4 หุ้นวิ่ง! รับรัฐผุด “ซอฟต์โลน 2 แสนล้าน! “บีโอไอ” ดึงมะกันลงทุน 5 กลุ่มธุรกิจเทค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 ก.ค.68) ราคาหุ้น ณ เวลา 10:19 น. บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8 อยู่ที่ระดับ 7.00 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 0.72% สูงสุดที่ระดับ 7.05 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 7.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.25 ล้านบาท
บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA อยู่ที่ระดับ 14.70 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.68% สูงสุดที่ระดับ 14.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 14.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 20.37 ล้านบาท
บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF อยู่ที่ระดับ 42.00 บาท บวก 0.25 บาท หรือ 0.60% สูงสุดที่ระดับ 42.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 41.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 219.04 ล้านบาท
บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK อยู่ที่ระดับ 18.90 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.53% สูงสุดที่ระดับ 19.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 18.80 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.06 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา ตอบรับข่าวนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ “กรอบเจรจาและรับมือผลกระทบภาษีทรัมป์” ในงานกรุงเทพธุรกิจ Roundtable : The Art of The (Re) Deal ว่า แม้การเจรจาจะผ่านมาแล้ว 100 วัน และยังไม่มีข้อสรุปแต่ยืนยันว่าทีมไทยแลนด์ ทีมงานติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ถือว่าการเจรจาล่าช้า อีกทั้งไทยยังได้รับประโยชน์จากข้อสรุปในการเจรจากับประเทศอื่น ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับแนวทางเจรจาของไทย ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมเพิ่มรายการสินค้าเข้าสู่โต๊ะการเจรจา เพื่อลดอัตราภาษีให้เหลือ 0% สำหรับสินค้าที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องนำเข้า หรือของที่ผลิตในไทยแล้วไม่เพียงพอ คูู่ขนานไปกับการปกป้องภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะในภาคเกษตร
“ข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งไปให้พิจารณาโดยเปิดตลาดให้สหรัฐฯ แล้ว 63-64% และเพิ่มเป็น 69% ไทยมีการเปิดตลาดสินค้าบางอย่างที่เราไม่เคยเปิด เราต้องเปิดมากขึ้น ซึ่งกำลังมองว่า อะไรที่ไทยผลิตเยอะ จะไม่เปิดตลาด แต่ถ้าเราเปิดให้ คิดว่าถ้าเปิดเขาก็คงเข้ามาไม่ได้ง่าย เช่น รถพวงมาลัยซ้าย”
นายพิชัย กล่าวว่า ระหว่างการเจรจา ไทยจะต้องพิจารณาด้วยว่าข้อเสนอที่ตกลงกันจะกระทบประเทศที่สามหรือไม่ และจำเป็นต้องวางหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมการค้ากับสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และการนำเข้าพลังงาน
ส่วนเรื่องปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้านั้น ทางสหรัฐฯ ให้มีการเพิ่มการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local content) ซึ่งสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจนว่าจะกำหนดสัดส่วน Local content ภายในประเทศไว้ที่เท่าไร แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง 60–80% เทียบกับที่ไทยกำหนดไว้ที่ 40%
ทั้งนี้ หากมีการปรับเกณฑ์นี้ อาจไม่ได้ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศเวียดนามมากนัก เพราะเวียดนามมีอัตราการใช้วัตถุดิบจากประเทศที่สามสูงกว่าไทย ทำให้ไทยจึงเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียมซอฟต์โลนไว้ประมาณ “2 แสนล้านบาท” คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือ ทั้งการลงทุน ช่วยการจ้างงาน การบริหารสินค้าคงคลัง และมาตรการของสถาบันการเงิน มาตรการเยียวยาต่าง ๆ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้จากระดับปกติที่ดอกเบี้ย 2%
“ซอฟต์โลนดังกล่าวจะมาจากธนาคารออมสินเป็นหลัก ส่วน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะช่วยบางส่วน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเน้นช่วยภาคเกษตร รวมถึง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK โดยแต่สัดส่วนการปล่อยกู้จากธนาคารใดยังต้องรอความชัดเจนจากฝั่งสหรัฐฯ ว่าจะกำหนดอัตราภาษีกับไทยอย่างไร”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องเตรียมมาตรการเพิ่มเติมรองรับ โดยได้รวบรวมข้อมูลจากแต่ละภาคส่วน เพื่อออกแบบมาตรการให้ครอบคลุมและตรงเป้าหมาย ซึ่งภาคเอกชนทยอยส่งข้อมูลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในวันที่ 14 ก.ค. 2568 เพื่อใช้ประกอบการประเมินและแก้ไขปัญหาในแต่ละภาคธุรกิจ
ส่วนเงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ เช่น ความมั่นคง ภาพรวมการเจรจายังอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งหากไทยเสนอประเด็นด้านความมั่นคง อาจทำให้จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกับไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นายพิชัยมองว่า เรื่องนี้ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากไทยยังไม่ได้ใช้ประเทศใดเป็นเงื่อนไขในการเจรจากับสหรัฐฯ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยถึงแนวทางการรับมือและดึงดูดการลงทุน ท่ามกลางสถานการณ์ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งประเทศไทยถูกกำหนดเพดานอัตราภาษีไว้ที่ 36% และยังอยู่ระหว่างการเจรจา
สำหรับ มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุน นอกเหนือไปจากอัตราภาษีตอบโต้ ยังมีภาษีการส่งผ่านสินค้า (Transhipment) และภาษีรายสินค้าตามมาตรา 232 เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศแล้วในอะลูมิเนียม ทองแดง รถยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญบางชิ้น รวมถึงคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันได้รับการยกเว้น แต่ในอนาคตไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี อัตราภาษีมาตรา 232 นี้เท่ากันทุกประเทศ ทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประเทศ แต่เป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ ทำให้บางบริษัทอาจพิจารณาไปลงทุนตั้งฐานผลิตในสหรัฐฯ ที่มีอัตราภาษี 0%
อีกทั้งยังมีเรื่องการจำกัดการส่งออกชิป AI ซึ่งไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัจจัยด้านภาษีไม่ใช่ตัวตัดสินเพียงหนึ่งเดียวในการลงทุน นอกจากนี้ ยังมี Global Minimum Tax ที่ประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม เก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น บีโอไอจึงได้เตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่ม "เครดิตภาษี" มาช่วยบรรเทาผลกระทบ
สำหรับทิศทางการลงทุนสหรัฐฯ ในไทย ที่ผ่านมา 3 ปี การลงทุนสหรัฐฯ มี 135 โครงการ เงินลงทุน 150,000 ล้านบาท หากรวมการลงทุนผ่านทางสิงคโปร์ การลงทุนมากกว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ดิจิทัล อาหารคน อาหารสัตว์ โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทางบีโอไอให้ความสำคัญดึงการลงทุนจากสหรัฐฯ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อาทิ การผลิตชิป การผลิตฮาร์ดดิสก์ ชิ้นส่วนเทเลคอม โน๊ตบุ๊ค 2. ดิจิทัล AI ดาต้าเซ็นเตอร์ 3. ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ 4. อุตสหกรรมด้านไบโอเบส และไบโอเทค และ 5. การเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ
โดยการผูกซัพพลายเชนไทยกับสหรัฐฯ ทั้งไทยลงทุนในสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ลงทุนในไทย โดยเป้าหมายสำคัญคือเป็นซัพพลายเชนของสหรัฐฯ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ดิจิทัล และมองไทยเป็นฐานขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน
รวมทั้งส่งเสริมลงทุนไทยในสหรัฐฯ บีโอไอได้มาตรการการรองรับแล้วผ่าน 5 มาตรการ อาทิ การส่งเสริม SME ปรับปรุงและส่งเสริมการผลิต มาตรการส่งเสริมการใช้โลคอลคอนเทนต์ ใช้เครื่องใช้ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ขณะที่เอกชนต้องค้นหาจุดแข็ง หากดูแล้วอุตสาหกรรมไหนภาครัฐช่วยเหลือแล้ว แต่ไม่สามารถแข่งขันได้ต้องทรานส์ฟอร์มไปสู่ธุรกิจใหม่ ทั้งนี้หากพิจารณาผลกระทบจากภาษีทรัมป์ ที่กระทบการลงทุนมี 4 เรื่องหลัก 1. Reciprocal Tariff ที่มีผลต่อการค้าขายกับการลงทุน 2. อัตราภาษีทรานชิปเมนต์ ซึ่งยังไม่มีคำชัดเจนเรื่องของนิยามว่าจะมีการกำหนดโลคอลคอนเทนต์อย่างไร ซึ่งของสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงการสวมสิทธิ์การนำเข้าส่งออกเท่านั้น แต่รวมถึงสัดส่วนการใช้โลคอลคอนเทนต์
3.อัตราภาษีรายสินค้าภายใต้มาตรการ 232 สินค้าเกี่ยวกับความมั่นคงที่เก็บภาษีเท่ากันทุกประเทศ คือ 25% อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง รถยนต์ ยกเว้น เซมิคอนดักเตอร์ กับอิเล็กทรอนิกส์ ที่เก็บภาษี 0% แต่อนาคตก็ไม่แน่นอน ถึงแม้ไม่ได้มีความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่แน่นอนว่ามีต้นทุนเรื่องเงินทางธุรกิจ บางบริษัทมีการเปรียบเทียบว่าสินค้าที่โดนมาตรการ 232 จะลงทุนในสหรัฐฯ หรือนอกสหรัฐฯ และ 4. การจำกัดการส่งออกซิป Ai ซึ่งมีชื่อไทยปรากฏอยู่ด้วย หากไทยโดนด้วยก็จะกระทบดาต้าเซ็นเตอร์ และการพัฒนาขีดความสามารถเอไอของไทย
ขณะเดียวกัน หากสรุปผลมาตรการของสหรัฐฯ ที่มีผลต่อการลงทุน หากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐฯ อย่างจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่กลุ่มที่อยู่ภายใต้ภาษีมาตรการ 232 จะกระทบไทยมากน้อย ซึ่งภาษีไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินใจลงทุน การที่จะตัดสินใจลงทุนมีอยู่ 5 เรื่อง ได้แก่
1.โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ น้ำ ไฟฟ้า สนามบิน นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งไทยได้เปรียบหากมองในภูมิภาคเอเชีย 2. ซัพพลายเชน เช่น ครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยได้เปรียบ 3. บุคลากร แรงงานฝีมือ วิศวกร ช่างเทคนิคซึ่งไทยได้เปรียบ 4.สิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
2.ไทยมีทั้งตลาดในประเทศ 70 ล้านคน FTA 14 ฉบับกับ 24 ประเทศ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศไทยมีสถานะที่แข่งขันได้
"หากการเจรจาไทยได้ภาษีใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาค ใน 5 เรื่องที่กล่าวไปเชื่อว่าไทยเป็นแรงดึงดูดการลงทุน"
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ เป็นการช่วยกระจายฐานการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเผชิญกับกำแพงภาษีจากประเทศอื่นเช่นกัน
กลุ่มแรกที่จะได้ประโยชน์จากการลงทุนของสหรัฐฯ ได้แก่ AMATA และ WHA
สำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศ ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมไฮเทคของไทย เช่น Data Center และบริการที่ปรึกษาด้านดิจิทัล เช่น GULF, BE8 และ BBIK