กรมชลประทานประชุมตรวจติดตามโครงการ งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน(ระบบผันน้ำ)จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
กาญจนบุรี/ กรมชลประทานประชุมตรวจติดตามโครงการ งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน(ระบบผันน้ำ)จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
วันที่ 15 ก.ค.68 ที่ห้องประชุมอาคาร 50 ปี เขื่อนแม่กลอง สำนักงานชลประทานที่ 13 ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี นายพิเชษฐ รัตนปราสารทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน เป็นประธานกิจกรรมตรวจติดตามโครงการ งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน(ระบบผันน้ำ)จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี ที่ดำเนินงานโดย กิจการร่วมค้า SPDBYC JV ประกอบด้วยบริษัท ศุภฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด และบริษัท บียอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ระยะเวลาการดำเนินงาน 450 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ถึง วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568
โดยมีนายวิวรรธน์ เจริญสุขรุ่งเรือง วิศวกรชลประทาน ผู้แทนบริษัทกิจการร่วมค้า นายสรณคมน์ ช่างวิทยาการ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 13 นายโอฬาร ทองศรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุพรรณบุรี พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าร่วม การประชุมตรวจติดตามโครงการฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ จากนั้นคณะทั้งหมดได้เดินทางลงพื้นที่ที่สำนักชลประทานที่ 13 และเขื่อนแม่กลอง บริเวณประตูระบาย เพื่ออธิบายความเป็นมาของโครงการข้างต้นให้ประชาชนทราบผ่านสื่อมวลชน
ทั้งนี้ นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่บริเวณรอยต่อของจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ อำเภอหนองปรือ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้าง อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่แห้งแล้ง การพัฒนาแหล่งน้ำส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กประเภทอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำตามลำน้ำ จะมีเพียงอ่างเก็บน้ำลำตะเพิน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีความจุเก็บกักประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำไปให้พื้นที่อื่นๆ ที่เดือนร้อนได้
พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยตะเพินตอนบนหรือพื้นที่รับน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะเพินปัจจุบัน มีศักยภาพปริมาณน้ำท่าค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีที่ไหลลงอ่างประมาณ 78.56 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถผันไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในพื้นที่โครงการได้ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี ก่อนหน้านี้ได้การสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน เรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนนี้เป็นการสำรวจ ออกแบบ ระบบผันน้ำเพิ่มเติม
การออกแบบแนวท่อผันน้ำจะวางลัดเลาะไปตามแนวถนนเดิมเป็นหลัก โดยท่อผันน้ำสายหลัก (MP) มีความยาวประมาณ 34.9 กิโลเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร สามารถบริหารจัดการน้ำส่งให้พื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 13,500 ไร่ และมีแนวท่อผันน้ำต่อจากท่อผันน้ำสายหลัก (MP) เป็นท่อผันน้ำสายหลักที่ 1 (MP1) มีความยาวประมาณ 29.8 กิโลเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1.00-0.20 เมตร จะผันน้ำเกือบตลอดปี ส่งน้ำโดยตรงไปยังพื้นที่เกษตรบริเวณพื้นที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ บางส่วน
และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ บริเวณตำบลหนองนกแก้ว และตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี และจะผันน้ำไปเติมให้อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และสระเก็บน้ำต่างๆ ตามแนวท่อผันน้ำ พื้นที่ชลประทานที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 23,923 ไร่ และท่อผันน้ำสายหลักที่ 2 (MP2) มีความยาวประมาณ 20.7 กิโลเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1.50-1.00 เมตร จะผันน้ำในช่วงฤดูฝนเป็นหลัก ส่งน้ำไปยังพื้นที่อำเภอด่านช้าง อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยจะผันน้ำไปเติมให้อ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน และอ่างเก็บน้ำพุปลาก้าง ส่วนที่เหลือจะผันไปเติมให้อ่างเก็บน้ำห้วยทวีปในอนาคต และคลองส่งน้ำชลประทานเรียบถนนสาย 333 พื้นที่ชลประทานที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 19,690 ไร่
โครงการนี้จะทำให้มีน้ำต้นทุนมาเสริมให้กับประชาชนในอำเภอหนองปรือ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้าง อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อใช้สำหรับการเกษตร เพื่อการอุปโภค-บริโภคอีกด้วย โดยตลอดการดำเนินงานได้จัดกิจกรรมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น โดยการหารือร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำไปสู่การพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการให้มากที่สุด โดยการสำรวจออกแบบ จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2568 โดยกรมชลประทานต้องมีขั้นตอนการขออนุมัติงบประมาณจาก ครม. ซึ่งไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดได้
ด้านนายวิวรรธน์ เจริญสุขรุ่งเรือง วิศวกรชลประทาน ผู้แทนบริษัทกิจการร่วมค้า กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน (ระบบผันน้ำ) จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี มีระบบท่อผันน้ำ 3 สาย มีลักษณะการผันน้ำด้วยท่อส่งน้ำแรงโน้มถ่วง จากอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน ไปยังพื้นที่เกษตร สระเก็บน้ำ และอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี โดยแนวท่อผันน้ำจะวางลัดเลาะไปตามถนนเดิม
ระบบท่อผันน้ำสายหลัก (MP) ยาวประมาณ 37 กิโลเมตร มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 3,500 ไร่ โดยแนวทางการผันน้ำของระบบผันน้ำสายหลัก (MP) จะผันน้ำเฉพาะฤดูฝน โดยผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะเพินบน ไปเติมให้สระเก็บน้ำ และอ่างเก็บน้ำในพื้นที่
ระบบท่อผันน้ำสายหลักที่ 1 (MP1) ยาวประมาณ 28 กิโลเมตร มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 22,677 ไร่ โดยแนวทางการผันน้ำของระบบผันน้ำสายหลักที่ 1 (MP1) มีรายละเอียดดังนี้ ช่วงฤดูฝน จะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนไปเติมให้อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และผันไปช่วยเหลือพื้นที่เกษตรบริเวณพื้นที่อำเภอเลาขวัญในบางส่วน ช่วงฤดูแล้ง จะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะเพินบนไปยังพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่บริเวณตำบลหนองนกแก้ว และตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ
สำหรับระบบท่อผันน้ำสายหลักที่ 2 (MP2) ยาวประมาณ 21 กิโลเมตร มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 19,690 ไร่ แนวทางการผันน้ำของระบบผันน้ำสายหลักที่ 2 (MP2) จะผันน้ำเฉพาะฤดูฝน โดยผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะเพินบน ไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยทวีปและอ่างเก็บน้ำพุปลาก้าง (ขยาย) ส่วนที่เหลือก็จะผันไปให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยทวีป และคลองส่งน้ำชลประทานเรียบถนน 333 เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่อำเภอหนองหญ้าไซ
ขณะที่นายสรณคมน์ ช่างวิทยาการ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 13 กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 13 นั้นเรามีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญอยู่ 2 แหล่ง ประกบด้วยแหล่งน้ำต้นทุนจากเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ และแหล่งน้ำต้นทุนจากเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเราอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนใหญ่แล้วอยู่นอกเขตชลประทาน แต่เรายังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่สำคัญอยู่ 4 แห่งด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน อ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย และอ่างเก็บน้ำพุตะเคียน
โดยโครงการดังกล่าวมีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนส่งไปยังพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี แต่อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะต้องมาดูผลพิจารณาการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนอำเภอที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่คือพื้นที่อำเภอเลาขวัญ ที่เป็นพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งของจังหวัดกาญจนบุรีมาอย่างยาวนาน
ส่วนนายโอฬาร ทองศรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุพรรณบุรี กล่าวว่า สำหรับระบบผันน้ำจากอ่างลำตะเพิน จังหวัดสุพรรณบุรีจะได้รับประโยชน์ จากท่อ MP2 มาเติมน้ำที่อ่างเก็บน้ำพุปลาก้าง และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์บริเวณอ่างกระเสียว และพื้นที่บริเวณอำเภอหนองหญ้าไทรติดกับถนนสาย 333 รวมประมาณ 9,000 ไร่เศษ ซึ่งท่อ MP2 นั้นมีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร อนาคตจะทำให้เกิดความมั่นคงให้กับพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก
โดยโครงการดังกล่าวตั้งอยู่กลางหุบเขาในพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความเงียบสงบ และบรรยากาศท่ามกลางธรรมชาติของท้องฟ้า ผืนน้ำ และภูเขาที่โอบล้อม
บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำฯ มีที่พักมากมายไว้บริการนักท่องเที่ยวตามความชื่นชอบ เช่น บ้านไม้ริมน้ำ กระท่อมไม้ไผ่ ลานกางเต็นท์ เป็นต้น โดยแต่ละแห่งจะมีทิวทัศน์และความเป็นธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในเวลาเช้าตรู่ที่จะได้สัมผัสกับหมอกที่ลอยขึ้นเหนือน้ำ ชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น และรอชมภาพพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าในยามเย็นได้อีกด้วย นอกจากนี้ มีกิจกรรมต่าง ๆ ในบริเวณที่พักไว้บริการแก่ผู้มาเยือน เช่น พายเรือ เรือปั่น ตกปลา และล่องเรือชมอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น