ถอดรหัสกลยุทธ์ "ทักษิณ" จากหนังสืออัตชีวประวัติ สู่แผน End Game การเมืองไทย
วันที่ 22 ก.ค.68 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ระบุว่า …
จากที่ผมได้อ่านหนังสือ ตาดูดาว เท้าติดดิน อัตชีวประวัติของคุณทักษิณ ที่เขาใช้สรรพนามในเรื่องว่า “ผม”
ทักษิณประกาศวิธีคิดของเขาในหนังสือว่า
1. เขาจะ “ไม่ fighting a losing war คือ ไม่ทนต่อสู้ในสงครามที่รู้ว่าจะมีจุดจบอยู่ที่ความพ่ายแพ้ หรือที่เห็นอยู่ทนโท่ว่าอย่างไรก็ต้องสูญเสีย”
2. หากเขารู้ว่าของที่ใช้อยู่จะไม่ได้ผล จะ “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่าด้วย”
3. เขาตระหนักดีว่า การ “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่าด้วย” เป็นการเสี่ยงที่สูง
เพราะการเอาของใหม่ฯไปล้างของเสียที่เล็กกว่าที่มีอยู่เดิม
นอกจากจะต้องเสียของเล็กนั้นแน่นอนแล้ว เพราะถูกล้างด้วยของใหม่ ของใหม่เองก็อาจจะเสียไปด้วย หากลงเอยไม่บรรลุเป้าหมาย
4. แม้ว่าเขาจะตระหนักดีว่าเสี่ยง
แต่เขาเชื่อในหลัก “ยิ่งเสี่ยงสูง ผลตอบแทนย่อมยิ่งสูงตาม high risk high return” ซึ่งนักธุรกิจที่กล้าเสี่ยงสูง ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จสูงและหายนะ
5. การเสี่ยงในความคิดของเขา ไม่ใช่การสุ่มเสี่ยง แต่เขาอ้างว่า
“เป็นความเสี่ยงที่ได้ระมัดระวังตรวจสอบรอบคอบมาแล้ว
เป็นความเสี่ยงที่สามารถคำนวณได้ ซึ่งสัมพันธ์กับการแสวงหาความรู้และข้อมูลข่าวสารอีกทอดหนึ่ง
แล้วไม่ใช่ความเสี่ยงสำเร็จรูป เพียงครั้งเดียวจะแจ๊กพ็อต
แต่เป็นความเสี่ยงที่ต้องผ่านการขัดเกลาอย่างดีจากประสบการณ์”
เราลองมานั่งๆนอนๆคิด ข้อ 2, 3, 4 กันดูครับ
เริ่มจาก ข้อ 2 ที่ผ่านมา เขาใช้ของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่า“
เช่น อะไรบ้าง ?
ผมคิดได้กรณีหนึ่ง คือ กรณีทูลกระหม่อมลงแคนดิเดทนายกฯไทยรักษาชาติ ตอนเลือกตั้ง 2562 โดยไม่สนรายชื่อแคนดิเดทของเพื่อไทยที่มีคุณหญิงสุดารัตน์เป็นตัวเต็ง
ถ้าเรามาช่วยกันนึกย้อนหลัง เราก็จะเข้าใจเรื่องลือเกี่ยวกับ ดีลลับ
และถ้าเราช่วยกันสมมติต่อ เราอาจจะ ”รู้ทันแต่ละหมากที่ทักษิณกำลังเดินอยู่“
แล้ว end game กัน