คนกลุ่มไหนควรเลี่ยง ‘น้ำมะพร้าว’
“น้ำมะพร้าว” นอกจากเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติหอมหวาน ดับกระหาย ทำให้รู้สึกสดชื่นแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข” บอกเล่าสาระน่ารู้เกี่ยวกับน้ำมะพร้าวว่า แม้สรรพคุณทางโภชนาการมากมาย แต่ก็ยังมีข้อควรระวังในการบริโภคด้วยเช่นกัน
สรรพคุณของน้ำมะพร้าว
@ ในน้ำมะพร้าวมีแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ในน้ำมะพร้าวสด พบสารอาหารแร่ธาตุเหล่านี้มากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพแทสเซียมและคลอไรด์ในปริมาณเฉลี่ย 133.81-215.20 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
@ น้ำมะพร้าวสดมีวิตามิน บี 2 ในปริมาณที่น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และมีวิตามิน บี 3 ในปริมาณเฉลี่ย 0.04-0.1 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
@ พบน้ำตาล 3 ชนิด ประกบด้วย กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในปริมาณเฉลี่ย 1.28-2.61 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร แต่น้ำมะพร้าวสดจะมีน้ำตาลกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น ทั้งนี้ปริมาณน้ำตาลขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อนจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่
@ พบฮอร์โมนเอสตราไดออล (Estradiol) และเทสโทสเตอโรน (Testosterone) น้อยมาก เมื่อเทียบกับฮอร์โมนเพศที่ถูกผลิตขึ้นในร่างกายมนุษย์ โดยฮอร์โมนเอสตราไดออล มีปริมาณน้อยกว่า 1.0 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ส่วนเทสโทสเตอโรน มีน้อยกว่า 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร
ควรบริโภคน้ำมะพร้าวอย่างไร
การบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผลหรือ 1 ขวด (ประมาณ 200-300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ซึ่งเราควรบริโภคน้ำตาลวันละไม่เกิน 32 กรัม ดังนั้นการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน จะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี
ข้อควรระวังของการดื่มน้ำมะพร้าว
น้ำมะพร้าวไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตเสื่อม เนื่องจาก น้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยโรคไตเกิดอาการหัวใจวายได้
และกรณีของคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้กับหัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม.