เปิดร่างข้อบัญญัติฯ กทม. เตรียมคุมความสว่างป้ายโฆษณา LED
กรุงเทพมหานครเตรียมกำหนดมาตรฐานใหม่ควบคุมแสงจากป้ายโฆษณา LED หลัง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เสนอร่างข้อบัญญัติว่าด้วยการกำหนดค่าแสงสว่างของป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเองต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาแสงจ้ารบกวนประชาชน และสร้างความปลอดภัยในการใช้ชีวิตและการจราจรในเมือง
การเสนอร่างข้อบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ป้ายโฆษณา LED ตามทางด่วนและพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มักมีแสงสว่างจ้ามากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง ขณะที่กฎหมายปัจจุบันยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าแสงในระดับใดจึงถือว่าเป็นการรบกวน โดยเพียงกำหนดให้ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเท่านั้น และไม่มีมาตรการวัดผลทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด
กรุงเทพมหานครจึงเสนอร่างข้อบัญญัติเพื่อกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าป้ายโฆษณาควรมีค่าความสว่างเท่าใด เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียง และผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมสร้างมาตรฐานกลางสำหรับเอกชนและเจ้าของป้าย
ผู้ว่าฯ ระบุว่า ปัจจุบันไม่มีใครสามารถชี้ได้ว่าใครถูกใครผิด และการมีมาตรฐานจะช่วยให้เอกชนไม่ลงทุนเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้รับการป้องกัน
เนื้อหาในร่างข้อบัญญัติฯ ระบุว่า ป้ายโฆษณาที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเอง ต้องควบคุมค่าความสว่างตามช่วงเวลา ดังนี้
- เวลา 07.00–19.00 น. ต้องมีค่าแสงสว่างไม่เกิน 5,000 แคนเดลาต่อตารางเมตร
- เวลา 19.00–07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต้องมีค่าแสงสว่างไม่เกิน 500 แคนเดลาต่อตารางเมตร (แคนเดลา ใช้วัดความหนาแน่นของแสงจากแหล่งกำเนิดแสง ที่เดินทางไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เช่น การวัดความหนาแน่นของแสงจากไฟฉาย)
หากป้ายมีแสงสว่างเกินกว่าที่กำหนด จะถือว่าเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อบริเวณใกล้เคียง หรือรบกวนการมองเห็นสภาพการจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการควบคุมรถ
ร่างข้อบัญญัตินี้ออกตามข้อ 17 ของกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 และอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบรับหลักการร่างข้อบัญญัติฯ และตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อแปรญัตติภายใน 5 วัน และพิจารณาเนื้อหาภายในระยะเวลา 60 วัน