ทะลุแล้ว! เจาะอุโมงค์ดอยหลวง เชียงราย รถไฟทางคู่ 'เด่นชัย –เชียงของ' แสงแรกแห่งล้านนา
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อัปเดต การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ใหม่สายเหนือเส้นทาง เด่นชัย –เชียงราย-เชียงของระยะทาง323.1กิโลเมตรกว่า2ปีปัจจุบันคืบหน้าไปมากกว่า36%
อย่างไรก็ตามเส้นทางนี้มีความน่าสนใจตรงที่มีอุโมงค์มากถึง4 แห่งผ่านหุบสูงชัน 4 แห่ง และ ยกเส้นทางยกระดับ ข้าม หุบเหวลึก หากแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางไฮไลต์ ของการท่องเที่ยวที่น่าจับตา
โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะสัมผัสกับกลิ่นไอดินและธรรมชาติสีเขียวที่ฉ่ำฝนโดยเฉพาะหน้าหนาว เหมือนนั่งท่ามกลางม่านหมอก สัมผัสธรรมชาติและอากาศอันหนาวเหน็บ เชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ล่าสุด เฟซบุ๊ก โครงการรถไฟเด่นชัย –เชียงราย-เชียงของ เมื่อวันที่7 กรกฎาคม 2568 ระบุว่า แสงแรกแห่งล้านนา ทะลุแล้ว อีกหนึ่งความก้าวหน้า อีกขั้นของความสำเร็จ ก้าวข้ามความท้าทาย การเจาะทะลุ (Break though) ของอุโมงค์ดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความก้าวหน้าการก่อสร้างเร็วกว่าแผน 6 เดือน
อุโมงค์ดอยหลวง เป็นหนึ่งใน 4 อุโมงค์ของโครงการฯ ความยาว 3,400 เมตร มีการเสริมกำแพงโครงเหล็กและผนังคอนกรีต พร้อมติดตั้งแผ่นกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม มีการจัดการระบบระบายน้ำ การป้องกันน้ำท่วมทั้งภายในและภายนอก พร้อมศึกษาแนวการไหลของน้ำเพื่อรองรับน้ำป่าในฤดูฝน มีทางเชื่อมฉุกเฉิน (cross passages) 14 จุด
สำหรับอพยพตามมาตรฐานสากล ในทุก ๆ ระยะ 240 ม. การเจาะอุโมงค์ดอยหลวงที่มีภูมิศาสตร์พื้นผิวและธรณีวิทยาเป็นหินภูเขาไฟ ใช้วิธีการเจาะผ่านหินและดินเหนียว ด้วยวิธี Drill & Blast เจาะและระเบิดร่วมกับงานขุดด้วยเครื่องจักร (Excavator)
แผนดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์ รวมทั้งงานคอนกรีตภายในอุโมงค์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 40 เดือน (3 ปี 4 เดือน) ซึ่งตอนนี้จากการดำเนินงาน สามารถขุดเจาะได้เร็วกว่าแผนประมาณ 19 เดือน ภายหลังจากงานขุดเจาะอุโมงค์แล้ว จะมีการดำเนินงานในส่วนของงานคอนกรีตผนังอุโมงค์ ตามลำดับและตามขั้นตอนต่อไป
ความคืบหน้าโดยรวมทั้งหมดของงานก่อสร้างอุโมงค์ดอยหลวง (มิ.ย.68) ประมาณ 54% เร็วกว่าแผน 7% จาก 100% ของงานก่อสร้างอุโมงค์ทั้งหมด
การก่อสร้างอุโมงค์ดอยหลวงนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การเจาะทะลุอุโมงค์เป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีและทีมงานผู้เชี่ยวชาญของไทยในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง
เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การบริหารจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โครงการนี้เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นและความร่วมมือของคนไทยในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
โครงการทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทางรวม 323.1 กิโลเมตร โครงการนี้เริ่มต้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย. เส้นทางจะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่, ลำปาง, พะเยา และเชียงราย
โครงการนี้ประกอบด้วยสถานีรถไฟทั้งหมด 26 สถานี โดยมีสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี และสถานีขนาดเล็ก 9 สถานี โครงการยังมีการก่อสร้างอุโมงค์จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์สอง, อุโมงค์งาว, อุโมงค์แม่กา และอุโมงค์ดอยหลวง
เส้นทางของโครงการจะมีการผสมผสานรูปแบบการก่อสร้าง ทั้งแบบระดับพื้นดิน, ทางยกระดับ และอุโมงค์. การก่อสร้างทางรถไฟจะช่วยเชื่อมโยงภาคเหนือของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว และจีนตอนใต้
โดยมีกำหนดเปิดให้บริการต้นปี 2571 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศทั้งการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าที่น่าจับตายิ่ง !!!