ค่าเงินบาทอ่อนค่า จับตาการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐ-ประเทศคู่ค้า
ค่าเงินบาทอ่อนค่า นักลงทุนจับตาการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 32.38/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/7) ที่ระดับ 32.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันอาทิตย์ (6/7) สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในเดือน เม.ย.นั้น จะมีผลบังคับใช้ใวันที่ 1 ส.ค.
สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐ โดย ประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งจดหมายไปยังประเทศคู่ค้าของสหรัฐตั้งแต่เวลา 12.00 น.ของวันจันทร์ที่ 7 ก.ค. ตามเวลาฝั่งตะวันออก (ตรงกับเวลา 23.00 น. ของวันนี้ ตามเวลาประเทศไทย)
โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่าหากประเทศดังกล่าวไม่เร่งดำเนินการใด ๆ แล้ว ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ภาษีศุลกากรของประเทศเหล่านี้้นั้นจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับที่สหรัฐได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งภายในวันที่ 9 ก.ค.ทุกประเทศจะได้รับการแจ้งครบถ้วน และอัตราภาษีจะมีตั้งแต่ 10 หรือ 20% ไปจนถึง 60 หรือ 70%
ทั้งนี้ หากมีการเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงสุดถึง 70% จริง จะถือเป็นอัตราที่สูงกว่าที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ซึ่งมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 50% โดยจนถึงขณะนี้รัฐบาลสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงกับเพียงอังกฤษและเวียดนาม รวมถึงตกลงพักรบด้านภาษีกับจีน ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจลง
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ได้ลงนามให้ร่างกฎหมายสำคัญที่ใช้ชื่อว่า One Big Beautiful Bill มีผลบังคับใช้ในช่วงบ่ายวันศุกร์ (4/7) โดยพิธีลงนามจัดขึ้นที่ทำเนียบขาว หนึ่งวันหลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งกฎหมายนี้สะท้อนนโยบายหลักของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี การเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และการเสริมความมั่นคงตามแนวชายแดน ทั้งนี้ในวันนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะค่าเงินยูโรและเยน โดยทางสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นต่างยังไม่บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับทางสหรัฐ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวานนี้ (6/7) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการค้าทวิภาคีกับสหรัฐ และลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐลง 70% จากปัจจุบันที่ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในเวลา 5 ปี โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้การค้าระหว่างสองประเทศถึงจุดสมดุลในระยะเวลา 7-8 ปี และภาษีศุลกากรที่ระดับ 10% ถือเป็นอัตราที่ดีที่สุด
แต่ขณะเดียวกันก็เสริมด้วยว่า ภาษีระหว่าง 10%-20% ก็ยังเป็นอัตราที่ยอมรับได้ นายพิชัยคาดว่าจะยื่นข้อเสนอที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ต่อรัฐบาลสหรัฐ ก่อนวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งหากข้อเสนอดังกล่าวได้รับการยอมรับ ไทยจะสามารถยกเว้นภาษีนำเข้าหรือมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ได้ทันที ในขณะที่ข้อจำกัดสำหรับสินค้าอื่น ๆ จะทยอยยกเลิกอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตามในวันนี้ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยนักลงทุนมีความกังวลว่าคณะตัวแทนจากไทยจะสามารถเจรจาต่อรองและได้ข้อสรุปทันเส้นตายที่ทางสหรัฐกำหนดหรือไม่
นอกจากนี้ นายพิชัยยังกล่าวด้วยว่า สินค้าสหรับหลายรายการที่จะเข้าถึงตลาดไทยได้มากขึ้นนั้น เป็นสินค้าที่ขาดแคลนในประเทศ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้ผลิตของไทย นอกจากนี้ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน มิ.ย. 68 อยู่ที่ 100.42 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน -0.25% (YOY) จากตลาดคาด -0.1% สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน
ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายชนิดราคาลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สด ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร และอาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.40-32.65 บา/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 32.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 1.1781/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 1.1779/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวันนี้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการหาข้อสรุปเรื่องภาษีศุลกากรระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐ
สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ยังออกมาไร้ทิศทาง โดยเมื่อวันศุกร์ (4/7) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยข้อมูลว่ายอดคำสั่งซื้อจากโรงงานของเยอรมนีร่วงลง 1.4% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยทรุดตัวหนักกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.1% โดยการทรุดตัวดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการดิ่งลงอย่างรุนแรงถึง 17.7% ของยอดสั่งซื้อในกลุ่มคอมพิวเตอร์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ออปติก
ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เคยได้รับคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ในเดือน เม.ย. ขณะที่ยอดสั่งซื้อในกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและโลหะพื้นฐานก็ร่วงหนักเช่นกัน ทั้งนี้หากไม่นับรวมคำสั่งซื้อรายการใหญ่ซึ่งมีความผันผวนสูง คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมร่วงลง 3.1% ในเดือน พ.ค.
อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีแถลงในวันนี้ (7/7) ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ 0% โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากอุสาหกรรมยานยนต์และการผลิตพลังงาน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1723-1.1772 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1725/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 144.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/7) ที่ระดับ 144.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นถูกกดดันจากความไม่แน่นอนเรื่องการเจรจาการค้าสหรัฐ-ญี่ปุ่น
ในวันนี้ (7/7) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลว่า ค่าจ้างที่แท้จริงของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. ปรับตัวลดลง 2.9% เมื่อเทียบรายปี โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และดิ่งลงรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี เนื่องจากอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงไล่ตามไม่ทันภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.93-145.33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 145.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี CPI เดือน มิ.ย.ของจีน (9/7), ดัชนีผู้ผลิต (PPI) เดือน มิ.ย.ของจีน (9/7), แบบจำลอง GDPNow ของธนาคารแอตแลนตาสหรัฐ (10/7), รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (10/7), ดัชนี CPI เดือน มิ.ย.ของเยอรมนี (10/7), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (10/7), GDP เดือน พ.ค.ของอังกฤษ (11/7), และดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.ของอังกฤษ (11/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.6/-8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7/-6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ค่าเงินบาทอ่อนค่า จับตาการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐ-ประเทศคู่ค้า
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net