ขุนคลัง ยอมรับใช้โมเดลภาษี 0% เสนอสหรัฐเหมือนเวียดนาม เดินหน้าปรับการค้าระหว่างกันเข้าสู่สมดุล
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจามาตรการภาษีกับสหรัฐฯ ว่า สิ่งที่ไทยยื่นข้อเสนอไปล่าสุดนั้น เป็นการปรับปรุงจากข้อเสนอเดิมที่ยื่นไปก่อนหน้า โดยเฉพาะเรื่องอัตราภาษี ซึ่งไทยอาจจะต้องให้อัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ 0% มากพอสมควร แต่คงไม่ได้ให้ทั้งหมดทุกรายการ
ไทยแสดงเจตนาปรับปรุงการค้าระหว่างประเทศของไทย-สหรัฐฯ ให้มีความเหมาะสมเพื่อให้เข้าสู่สมดุล โดยแนวทางที่สำคัญ คือ ต้องทำให้การค้าขายระหว่าง 2 ฝั่งมีมากขึ้น หากมองในมุมส่วนตัวก็คิดว่าข้อเสนอที่ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมนั้นค่อนข้างดี และเชื่อว่าหากมองในมุมของสหรัฐฯ ก็จะเห็นว่าดีด้วยเช่นกัน ซึ่งล่าสุดไทยได้จัดส่งรายละเอียดการปรับปรุงข้อเสนอ และยื่นให้กับทางสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว แต่คงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
"เรื่องการเจรจาแต่ละประเทศ ไม่ใช่ว่าคุยครั้งเดียวแล้วจะจบได้ ทุกอย่างต้องค่อยขยับไปเรื่อย ๆ และจำนวนประเทศที่ยังไม่ได้รับคำตอบก็ค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการทำงาน ช่วงที่เดินทางไปสหรัฐฯ มีโอกาสได้เจอกับภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนในไทย และภาคเกษตรกรรม ทำให้ได้รับรู้ปัญหาเพิ่มเติม และได้มีข้อเสนอต่าง ๆ กลับมา ทำให้ได้รับทราบในภาพรวม จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงเรื่องการค้าให้สมดุล และภาษีให้มีความเหมาะสม เพราะเวลาผมมอง ไม่ได้มองแค่การเข้าสู่จุดสมดุลการค้าเร็วขึ้นอย่างเดียว แต่ผมท่องเสมอว่า ต้องทำให้การค้าขายระหว่าง 2 ฝั่งมีมากขึ้น ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องมีการเสนออะไรเพิ่มเข้าไปหน่อย" นายพิชัย กล่าว
ส่วนสุดท้ายแล้ว สินค้าไทยจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าเวียดนามที่ได้ 20% หรือไม่นั้น รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวสั้น ๆ ว่า "อย่าให้ผมต้องตอบเลย"
สำหรับกรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศบน Truth Social ว่า จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% กับประเทศที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรของกลุ่มนี้นั้น รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า ต้องพิจารณาในรายละเอียดให้ลึก ๆ ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ หมายถึงอะไร ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้มีการประเมินเรื่องนี้
พร้อมมองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญความยากลำบาก แต่หากประเทศไทยเดินมาถูกทาง และเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าที่ดีแล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยก็พร้อมที่จะฟื้นตัวได้ทันที โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว การนำเข้าก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นขณะนี้ยังไม่อยากประเมินเร็วเกินไป เพราะยังต้องมีอะไรเข้ามาอีกเยอะ
"เรื่องสมดุลการค้า ที่ว่าจะต้องทำให้เร็วขึ้นใน 5-10 ปีนั้น ส่วนตัวมองว่าตรงนี้กลับไม่ได้เป็นประเด็นกับสหรัฐฯ เท่าไร แต่ประเด็นสำคัญกับสหรัฐฯ เชื่อว่าอยู่ที่เรื่องจะค้าขายอย่างไรกับไทยมากกว่า" นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ นายพิชัย ยังไม่กล้ายืนยันว่าไทยมีโอกาสจะได้รับจดหมายตอบกลับจากสหรัฐฯ ทันภายใน 9 ก.ค.68 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาการผ่อนผัน 90 วันหรือไม่ หรือจะได้อัตราภาษีที่เท่าใด
"อย่าไปตอบเรื่องจดหมายเลย ผมเองก็คงตอบอะไรไม่ได้ ส่วนวันที่ 9 ก.ค.68 ไทยจะโดนเรียกเก็บภาษีด้วยหรือไม่นั้น ก็อยากให้ลองมาดูกัน เพราะวันนี้ก็ 7 ก.ค. แล้ว" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเจรจาเรื่องมาตรการภาษีกับสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่เพียงการมุ่งลดอัตราภาษีระหว่างกันเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการอื่นที่เพิ่มเข้ามาด้วย เช่น จะมีวิธีอย่างไรที่ทำให้ดุลการค้าระหว่าง 2 ประเทศมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น ส่วนจะสมดุลเมื่อใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการ แต่เชื่อว่าข้อเสนอของไทยในเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อเสนอที่ดี และได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ
"ภาษีเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ภาษี ก็ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าการขาดดุลการค้าจะดีขึ้น ถ้าตราบใดที่เขายังนำเข้าจากเราเยอะ เขาก็ยังขาดดุลอยู่ดี แต่เรามีวิธีอื่นนอกเหนือจากการลดภาษี นั่นคือการทำให้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สมดุลมากขึ้น เช่น เราอาจจะซื้อสินค้าหรือลงทุนกับสหรัฐฯ มากขึ้น ส่วนเรื่องภาษี ถ้าลดไปลดมา แต่เราไม่ได้ซื้อสินค้าจากเขามากขึ้นเลย ดุลการค้าก็เหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องมีหลายวิธีรวมกัน ทั้งการลดอุปสรคทางการค้าในหลายมิติ ไม่ใช่การลดภาษีเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องภาษียังคงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นหัวข้อใหญ่ของการเจรจาในครั้งนี้" นายลวรณ กล่าว
ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ จะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 10% กับประเทศที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS นั้น เบื้องต้นมองว่าอาจจะไม่กระทบกับไทย เพราะไทยไม่ได้เป็นสมาชิก แต่เป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งหากพิจารณาตามขอบเขตที่สหรัฐฯ ประกาศออกมา คือจะดำเนินเก็บภาษีกับสมาชิกผู้ก่อตั้งในลักษณะหนึ่ง และสมาชิกสมทบในอีกลักษณะหนึ่ง ส่วนข้อสรุปจะเป็นอย่างไรคงไม่สามารถตอบได้ ต้องติดตามรายละเอียดต่อไป
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO