ทำไมชายแดนไทย-กัมพูชา จึงเป็น “พื้นที่พิพาท” ที่พร้อมปะทุอยู่เสมอ?
สรุปปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา หลังเหตุรุนแรงระลอกใหม่ปะทุขึ้นอีกครั้ง บริเวณที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศ ปลุกความขัดแย้งคุกรุ่นมายาวนานให้ลุกโชน หลังจากกองทัพไทยส่งเครื่องบินขับไล่เข้าโจมตีเป้าหมายทางทหารของเขมร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขณะที่กองกำลังของทั้งสองฝ่ายได้เปิดฉากปะทะกันอย่างดุเดือด
เวลานี้สถานการณ์ได้บานปลายจนความสัมพันธ์ทางการทูตเสื่อมทรามลงอย่างหนัก และเสี่ยงที่จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ โดยทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นผู้รุกราน
กระทรวงสาธารณสุขของไทยยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) ว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 12 ราย (พลเรือน 11 ราย และทหาร 1 ราย) และบาดเจ็บอีก 31 ราย ขณะที่ทางการกัมพูชายังไม่มีการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ
ต่อไปนี้คือบทสรุปของสิ่งที่ทางซีเอ็นเอ็น (CNN) สำนักข่าวเจ้าดังที่ระบุไว้ว่า นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องทราบเกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดนครั้งนี้
อะไรคือชนวนเหตุ ? การปะทะรอบล่าสุด
ความตึงเครียดได้ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เมื่อทหารกัมพูชานายหนึ่งเสียชีวิตระหว่างการปะทะช่วงสั้นๆ กับทหารไทยในพื้นที่พิพาทบริเวณสามเหลี่ยมมรกต ซึ่งเป็นจุดที่พรมแดนของไทย กัมพูชา และลาวมาบรรจบกัน
แม้ผู้นำทหารของทั้ง 2 ฝ่ายจะกล่าวว่า ต้องการลดระดับความรุนแรงแต่หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายกลับมีการแสดงแสนยานุภาพและเสริมกำลังทหารตามแนวชายแดนมาโดยตลอด
ฝ่ายไทยเข้าควบคุมด่านชายแดนและขู่จะตัดไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต ขณะที่กัมพูชาตอบโต้ด้วยการระงับการนำเข้าผักผลไม้และแบนละครโทรทัศน์ของไทย
สถานการณ์มาถึงจุดแตกหักเมื่อเกิดเหตุระเบิดของทุ่นระเบิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยทหารไทยนายแรกเหยียบกับระเบิดจนขาขาดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม และเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทหารไทยบาดเจ็บ 5 นาย และอีก 1 นายต้องสูญเสียขาไป เหตุการณ์นี้ได้นำไปสู่การตอบโต้ทางทหารอย่างเต็มรูปแบบในวันพฤหัสบดี
ทำไมพรมแดนนี้จึงเป็นข้อพิพาท ?
ไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนทั้งในแง่ของความร่วมมือและการแข่งขันมานานหลายทศวรรษ
ทั้งสองประเทศมีพรมแดนทางบกที่ติดต่อกันยาว 817 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขีดเส้นขึ้นโดยฝรั่งเศสในสมัยที่ยังปกครองกัมพูชาเป็นอาณานิคม และเส้นแบ่งนี้ได้กลายเป็นชนวนเหตุของความตึงเครียดทางการเมืองและการปะทะทางทหารเป็นระยะๆ
กัมพูชาเคยพยายามให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ของสหประชาชาติเข้ามาตัดสินพื้นที่พิพาท แต่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาล ICJ และอ้างว่าพื้นที่บางส่วนตามแนวชายแดนซึ่งรวมถึงที่ตั้งของปราสาทโบราณหลายแห่ง ยังไม่เคยมีการปักปันเขตแดนอย่างสมบูรณ์
ในปี 2011 กองทัพของ 2 ชาติเคยปะทะกันอย่างรุนแรงในบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นมรดกโลกของยูเนสโกที่อยู่ในความครอบครองของกัมพูชา เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย และมีผู้อพยพพลัดถิ่นหลายพันคน
ผลกระทบที่ตามมาคืออะไร ?
การปะทะที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมได้ส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างใหญ่หลวงในประเทศไทย โดย น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ในเดือนก.ค. หลังจากเกิดกรณีคลิปเสียงสนทนากับอดีตผู้นำทรงอิทธิพลของกัมพูชาอย่างสมเด็จฮุน เซน หลุดออกมา ซึ่งเนื้อหาในคลิปดูเหมือนว่าผู้นำหญิงของไทยกำลังวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติการของกองทัพไทยเอง
เรื่องอื้อฉาวและการถูกสั่งพักงาน อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ยังได้สร้างความไม่แน่นอนครั้งใหม่ให้กับราชอาณาจักรไทยซึ่งสั่นคลอนด้วยความวุ่นวายทางการเมืองมานานหลายปี
ท่าทีล่าสุดของทางการเป็นอย่างไร ?
ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าเป็นผู้เปิดฉากยิงก่อนในเช้าวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) โดยฝ่ายไทยระบุ กัมพูชาได้ยิงจรวดเข้ามาในดินแดนไทย ขณะที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวว่าเครื่องบินขับไล่ F-16 ของไทยได้ทิ้งระเบิด 2 ลูกเข้ามาในดินแดนกัมพูชา
กระทรวงกลาโหมกัมพูชาประณามสิ่งที่เรียกว่า “การรุกรานทางทหารที่โหดร้าย ป่าเถื่อน และรุนแรง” และกล่าวหาว่าไทยละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งประกาศว่า “กองทัพพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะปกป้องอธิปไตยและประชาชน ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม”
ด้านกองทัพภาคที่ 2 ของไทยยืนยันว่าได้ส่งเครื่องบิน F-16 เข้าปฏิบัติการใน 2 พื้นที่ และอ้างว่าได้ “ทำลาย” หน่วยสนับสนุนทางทหารของกัมพูชาไป 2 แห่ง โดยโฆษกกองทัพบกยืนยันว่าการโจมตีมุ่งเป้าไปที่เป้าหมายทางทหารเท่านั้น ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากัมพูชายิงอาวุธหนักเข้ามาในไทยโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้พลเรือนเสียชีวิต และยืนยันว่าจะไม่มีการเจรจาใดๆ จนกว่าการสู้รบจะยุติ
ขณะที่นานาชาติต่างแสดงความกังวล โดยสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย “ยุติการสู้รบโดยทันที” ส่วนสหราชอาณาจักรได้ออกคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นในรัศมี 50 กิโลเมตรจากชายแดนไทย-กัมพูชา.
อ่านข่าวเพิ่มเติม