กระทรวงอุตฯเล็งดัน พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมเข้าที่ประชุมสภาปีนี้
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรม เปิดเผยความคืบหน้า ร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. … ว่า อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างตามประเด็นจากการรับฟังความคิดเห็นและเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติเห็นชอบเพื่อบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายในปีนี้
สำหรับโครงสร้างของร่างกฎหมายการจัดการกากอุตสาหกรรม จะแบ่งเป็น 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ
1.การจัดการกากอุตสาหกรรม ประกอบด้วบ โครงสร้างกฎหมาย ร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ 143 มาตรา เพื่อจัดการอุตสาหกรรม เยียวยาความเสียหายเบื้องต้น
และการประกันภัย การกำกับดูแล หน้าที่ความรับผิดชอบทางแพ่ง นโยบายส่งเสริมการกำจัดกากอุตสาหกรรม กองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน และบทกำหนดโทษ
"ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นเพราะปัญหากากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาเร่งด่วนที่กระทบต่ออุตสาหกรรมไทยอย่างมาก โดยร่างกฎหมายนี้มีการกำหนดบทลงโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท จำคุกสูงสุด 10 ปี"
2.จัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน โดยโยกกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2548 มาอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ขณะนี้รอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ โดยกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืนคาดจะมีวงเงินระดับ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากกองทุนเอสเอ็มอีเพราะจะมีภารกิจในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยที่ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ใช่เพียงปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีเท่านั้น
แต่จะพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน ป้องกันและแก้ปัญหาจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการสืบสวน ป้องกัน ปราบปราม และดำเนินคดี
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า เบื้องต้นแหล่งเงินกองทุนจะมาจาก 5 แหล่ง ได้แก่
- ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ จากกฎหมายแร่ กฎหมายโรงงาน กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรม และกฎหมายอื่นๆในอนาคต
- ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้
- เงินจากการลงทุน ร่วมลงทุน
- การให้บริการตรวจสอบ ขึ้นทะเบียน ออกใบรับรอง ประเมินผล การให้บริการอื่นๆแก่ภาคอุตสาหกรรมโดยกองทุน
- เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
"โมเดลจะคล้ายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสำนักงาน มีผู้อำนวยการมืออาชีพเข้ามาบริหาร โดยกองทุนจะมีบทบาทในการสนับสนุนอุตสาหกรรมศักยภาพมีอินเทนซีฟ อาจเป็นเงินอุดหนุน ขณะเดียวกันหากอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่ปล่อยมลพิษจะถูกเก็บค่าธรรมเนียม อย่างกรณีเผาอ้อยจะถูกหักเงิน ทั้งหมดนี้จะเป็นยกระดับอุตสาหกรรมไทยครั้งสำคัญ"