นักวิชาการ จี้ต่อมสำนึก สว.หยุดตั้งองค์กรอิสระ ระวัง เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้อพิพากษ์วิจารณ์ ถึงอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในการพิจารณาแต่งตั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ในช่วงนี้ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เนื่องจากมีสว.จำนวนมาก อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ ข้อร้องเรียน เรื่องการฮั้วเลือกสว . ว่า ณ วันนี้เรื่องที่มาของสว. ยังเป็นประเด็นที่สังคมมีข้อสงสัย มีข้อกังขา ซึ่งอันที่จริง ขอวิจารณ์เหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการดำเนินคดีข้อร้องเรียนฮั้วเลือกสว. ทั้งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นของการเลือกสว.แล้ว ฉะนั้นตนคิดว่าสว.ควรจะมีจิตสำนึก ว่าสังคมยังมีความเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีคดีร้องเรียนอยู่ที่กกตและดีเอสไอ ก็ควรหยุดทำหน้าที่อะไรที่สำคัญไปก่อน เช่น เรื่องการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ควรจะหยุดเอาไว้ก่อนเพราะไม่มีอะไรรีบด่วนขนาดนั้น เพราะตามกฎหมายก็มีกลไกรองรับอยู่แล้ว อย่างศาลรัฐธรรมนูญหากยังไม่ได้ตุลาการคนใหม่ ก็ให้ตุลาการคนเก่าทำหน้าที่ไปก่อน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาการทำหน้าที่ กรณีที่ยังไม่ได้ตุลาการคนใหม่เข้ามาเพราะฉะนั้นคิดว่าตรงนี้ มีกลไกรองรับอยู่แล้วสว.ไม่ต้องรีบขนาดนั้น เอาให้สังคมปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัย ต่างๆก่อนค่อยทำหน้าที่สำคัญเหล่านี้
เมื่อถามว่าหากไม่ดำเนินการจะทำให้ถูกมองว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือดำเนินการชักช้าหรือไม่ นายยุทธพรกล่าวว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิด แต่ตนคิดว่าในทางกลับกันการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ถือเป็นความผิดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้ามันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสถานภาพ ที่มา คดีต่างๆ ก็ควรที่จะระมัดระวังในการทำเรื่องต่างๆเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพราะอย่างที่บอกตนไม่ได้จะให้ สว.หยุดทำหน้าที่ทั้งหมด สิ่งที่สามารถทำได้เช่นข้อร้องเรียนของประชาชน ที่เข้ามาสู่กรรมาธิการต่างๆ สว.ก็ทำหน้าที่ได้อันนั้นไม่เป็นอะไร แต่สิ่งที่มันจะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องยาวนานอย่างเช่นองค์กรอิสร ต่างๆ ซึ่งอยู่ยาว ถึง 7 ปี อำนาจหน้าที่ก็มีมากมายตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้กระบวนการเหล่านี้อย่างระมัดระวัง และกระบวนการตรวจสอบนี้ไม่ได้จบเพียงแค่สว. แต่ยังเกี่ยวข้องกับองคาพยพอื่นๆทางการเมืองด้วย จึงต้องระมัดระวังด้วยเช่นกันนอกจากจะไปกังวลว่า จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องกังวลเรื่องการเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่า มีช่องทางตามกฎหมายใดหรือไม่ที่จะทำให้สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ พิจารณาแต่งตั้งองค์กรอิสระไปก่อน นายยุทธพร กล่าวว่า ณตอนนี้ช่องทางตามกฎหมายก็มีในส่วนของกกต.ที่จะต้องเร่ง พิจารณาคดีฮั้วสว.ว่ามีความเห็นอย่างไร ถ้าเห็นว่าจะต้องส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่จะพิจารณาต่อไปหากศาลรับพิจารณาคดีก็จะมีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
ส่วนการเข้าชื่อสว. 1 ใน 10 ของจำนวนสว. ทั้งหมด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบ ตามมาตรา 82 เหมือนกรณีที่มีการไปร้องสส.ถือครองหุ้นสื่อ ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ด้วยเช่นกัน แต่อาจจะต้องร้องเป็นรายบุคคล จะร้องทีเดียว 138 คนไม่ได้ ถ้าจะร้องก็ทำคำร้องเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ย้ำว่าการเข้าชื่อ 1 ใน 10 นี้ เป็นเรื่องของสภาใครสภามัน หมายความว่า สว.ก็ต้องเข้าชื่อเพื่อ ร้องสว.ด้วยกันเท่านั้น ไม่ใช่ว่าสส.จะเข้าชื่อกันมาร้องสว. แบบนี้ไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีอีกช่องทางหนึ่งก็คือที่ดีเสไอ กำลังตรวจสอบอยู่แต่อาจจะต้องใช้เวลายาวนานเพราะเป็นเรื่องของคดีการฟอกเงิน ท้ายที่สุดก็ต้องดูว่าศาลยุติธรรมถ้ารับคดีฟอกเงิน แล้วจะมีคำสั่งอย่างไร ถ้ารับคดีและถ้ามีเหตุให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัว ก็ต้องไปดูตรงนั้นอีกเพราะฉะนั้นช่องทางนี้อาจจะยาว
นายยุทธพรกล่าวด้วยว่า ณ วันนี้ สังคมและประชาชนคงทำอะไรมากไม่ได้ เพราะไม่ได้มีการเปิดช่องให้ประชาชนไปทำอะไรได้ในทางกฎหมาย แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือ การกดดันและตรวจสอบอย่างเข้มข้นนอกสภา ในภาคประชาสังคม การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ซึ่งที่จริงก่อนหน้านี้ก็มีองค์กรภาคประชาสังคมหลายหน่วยงาน มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆออกมาแม้กระทั่งใบแนะนำตัว ที่เขียนประวัติสว.เหล่านี้ออกมาเยอะแยะ ฉะนั้นก็ต้องใช้พลังสังคมในการกดดันตรงนี้
" ส่วนสว.เองผมคิดว่าจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย สว.หลายท่านก็เข้าชื่อให้ตรวจสอบในเรื่องของจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ของนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นตนเองก็ควรจะเป็นแม่แบบ แบบอย่างในการรักษามาตรฐานความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ให้กับสังคมเหมือนกัน" นายยุทธพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (5) นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง เพื่อให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในส่วนของ สว. ก่อนหน้านี้ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.พร้อมด้วยกลุ่มผู้สมัคร สว. และ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ ร่วมกันล่ารายชื่อ สว. ให้เข้าชื่อ 1 ใน 10 หรือจำนวน 20 คน ของจำนวน สว.ทั้งหมด 200 คน เพื่อยื่นต่อนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย สว.ทั้ง 200 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระทั้งกระบวนการ เนื่องจากมี สว. จำนวนมาก ที่ถูกตรวจสอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เกี่ยวกับปัญหาการฮั้วเลือกสว. แต่สุดท้ายไม่สามารถหารายชื่อได้ 20 คน จึงมีการแถลงยุติกระบวนการดังกล่าวเมื่วันที่ 28 พ.ค.2568.