สหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ ความตึงเครียดกับจีน และนโยบายของไทย กับ อ.ประพีร์ อภิชาติสกล
นโยบายภาษีต่างตอบแทน หรือขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ มีเส้นตายเตรียมประกาศใช้ 9 ก.ค.นี้ หลังชะลอมา 90 วัน และทีมไทยแลนด์เอง ก็มีคิวเข้าเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันนี้
TNN Online พูดคุยกับ ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ถึงนโยบายสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์เปลี่ยนไปอย่างไร และจีน ที่แม้จะเจรจา บรรลุข้อตกลงภาษีกับทรัมป์ในรอบนี้ไปได้แล้ว แปลว่าตลอดยุคของทรัมป์ จะไร้การบาดหมางกันจริงไหม และไทย ในฐานะประเทศที่ก็ต้องพึ่งมหาอำนาจนั้น ควรปรับตัว และดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไร ?
America First นโยบายสหรัฐฯ หลังยุคทรัมป์
หลังจากเข้ามารับตำแหน่งในเดือนแรก เราก็เห็นการดำเนินการของโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดี แก้กฎหมายมากมาย ปรับลดองค์กรต่างๆ ตัดเงินช่วยเหลือ จนคนมองว่าจากประเทศที่เคยเป็นเสรีนิยม และโปรโมทเรื่อง Globalization นั้น ถอยจากโลกมากขึ้น ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย พูดถึงประเด็นนี้ว่า คนมักมองเช่นนั้นตั้งแต่ยุคของทรัมป์ในสมัยแรก
“แต่อยากจะอธิบายว่าความจริงแล้วมันไม่ใช่เชิงการถอยออกมา แต่จะเห็นได้ว่าจริงๆ นโยบายของทรัมป์ตั้งแต่สมัยแรก มาจนถึงสมัยนี้เขา ใส่เรื่องของ America First เข้าไปอยู่ในนโยบายต่างประเทศของเขา ดังนั้นเราจึงจะเห็นได้ว่านโยบาย America First คือการที่สหรัฐอเมริกาจะดําเนินนโยบายอะไรก็ตาม เขาจะต้องคํานึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และคนอเมริกันเป็นหลักก่อน”
อาจารย์ชี้ว่า เพราะเหตุนี้ เราจึงเห็นทรัมป์ที่ลดเงินสนับสนุนในหลายๆ ส่วนที่มองว่าไม่จำเป็น ทั้งยังมองว่าเงินที่ทุ่มเทไปนั้น ต้องได้อะไรกลับมา “อย่างกรณี WHO (World Health Organization) เขามองว่าทุ่มเทเงินไปตั้งเยอะ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเสียเปรียบ ตั้งแต่ยุคโควิด-19 ทำให้เขารู้สึกว่า ทำไมจะต้องถูกเอาเปรียบ หรือในเรื่องของ WTO (World Trade Organizartion) หรือการเจรจาการค้าต่างๆ สหรัฐฯ ก็มองว่าการตกลงกัน รูปแบบของการตกลงระหว่าง 2 ประเทศ มันน่าจะประสบความสําเร็จมากกว่าที่จะเข้าไปอยู่ในเวทีของพหุภาคี เป็นต้น”
“หรือว่าเราอาจจะเห็นภาพของการที่อเมริกา ในบางครั้งก็คือสําหรับตัวโดนัลด์ ทรัมป์ เองที่เมื่อจะทำอะไร มีแนวโน้มที่เรียกว่า unilateral คือทําฝ่ายเดียวมากขึ้น มากกว่าที่จะไปผ่านสหประชาชาติ เพราะอย่างเช่น เรื่องภัยคุกคามบางอย่าง สําหรับทรัมป์มองว่าบางทีสหประชาชาติเองจัดการได้ช้าเกินไป มันจึงเป็นภาพที่เราเห็นว่าเขาเอาตัวเองออกมาจากตัวองค์กรระหว่างประเทศต่างๆเหล่านั้น
แต่ถามว่าเขาจะละเลยในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ กลับไปอยู่โดดเดี่ยว ไม่สนใจ จะอยู่คนเดียวเลย ก็คงไม่ใช่ภาพแบบนั้น เพราะอเมริกาเองจากทรัมป์ 1 ถึงทรัมป์ 2 เขาไม่ได้บอกว่าจะอยู่แบบโดดเดี่ยว ยกตัวอย่างในยุคทรัมป์ 2 ที่เดินทางไปซาอุดิอาระเบีย หรือว่าการที่ทรัมป์พยายามจะส่งคน หรือพูดเรื่องกรีนแลนด์ ปานามา อะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการที่อยากจะอยู่คนเดียว เพียงแต่ว่าเค้าจะเลือกดําเนินการ หรือรักษาความสัมพันธ์กับประเทศที่มีประโยชน์กับเขา เป็นภาพแบบนั้นซะมากกว่า”
แต่ถึงอย่างนั้น แม้อาจารย์จะฉายภาพให้เห็นว่าสหรัฐฯ เลือกรักษาความสัมพันธ์กับบางประเทศมากกว่าโดดเดี่ยวตัวเอง เราก็มักเห็นภาพที่ไม่ว่าจะในยุคทรัมป์ หรือไบเดน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มักมีความตึงเครียดกับจีนเป็นประจำ ซึ่งอาจารย์เองก็ย้อนให้เห็นเช่นกันว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของฝั่งไหน สหรัฐฯ ก็มักมองจีนเป็นคู่แข่งจริงๆ
“ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยบุชคนลูก (จอร์จ ดับเบิลยู บุช) ว่าอเมริกามองเห็นการเติบโตของจีนมานานแล้ว สมัยโอบามาเองก็เช่นเดียวกัน มีแนวนโยบายที่เรียกว่า เป็นการพยายามที่จะปิดล้อมจีน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เขาเรียกว่า Pivot to Asia หรือว่า Rebalancing ในภูมิภาค ว่าอเมริกาอาจจะกลับมาในภูมิภาคในเอเชีย เพราะว่าต้องการสกัดกั้นจีนไม่ให้แบบเติบโตไปกว่านี้ จะเห็นตั้งแต่โอบามาเริ่มชัดเจนขึ้น มาถึงทรัมป์ 1"
“เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหน ไม่ว่าจะเป็นเดโมแครต หรือรีพับลิกัน ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนไหน เราก็จะเห็นได้ว่าจีนน่าจะเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่ง หรือบางครั้งเขาอาจจะใช้คําว่าศัตรู แต่ว่าอาจารย์ก็มองลักษณะว่าในความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าจีนเป็นคู่แข่ง แต่ยังไงก็ตามสหรัฐอเมริกาก็พร้อมที่จะร่วมมือถ้าคุยกันได้
เพราะฉะนั้นถามว่าทําไมจะต้องเป็นจีน เราก็จะเห็นได้ว่า การเติบโตของจีน ไม่ว่าตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกของ WTO เป็นต้นมา แล้วก็จะเห็นว่าเศรษฐกิจของจีนเติบโต หรือว่ายุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนวางเอาไว้ในเรื่องของ BRI (Belt Road Initiative) ที่พยายามที่จะสร้างพวกโครงสร้างอะไรต่างๆ ในเศรษฐกิจอยู่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้จีนเข้าไปมีอิทธิพลได้ หรือแม้ว่าการที่จีนพยายามที่จะพัฒนาอาวุธให้ทันสมัย หรือว่ามีเหตุการณ์อย่างในบริเวณทะเลจีนใต้ เราจะเห็นได้ว่าจีนเองก็มีการขยายอิทธิพลของตัวเองเข้ามา มีการอ้างสิทธิต่างๆ ซึ่งตรงนี้มันก็กระทบกับภูมิภาคบริเวณนี้ด้วย
อีกอย่างหนึ่งมันก็ไปกระทบกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่า จีนมีอิทธิพลในเรื่องของทางเศรษฐกิจสําคัญมากๆเลย พวกนี้เองจึงทําให้สหรัฐอเมริกา มองว่าจีนเหมือนกำลังยึดครองภูมิภาคนี้ ซึ่งมันมีผลกระทบต่อเขา ผลกระทบต่อพันธมิตรของเขาในภูมิภาคนี้ แล้วก็การแข่งขันที่มันสูงมากยิ่งขึ้นในเรื่องของสินค้าสหรัฐอเมริกา ทรัมป์พูดไว้เลยว่า นี่เป็นการแข่งขันการค้าที่มันไม่เป็นธรรม การละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ และทรัมป์ก็สนใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเองตรงนี้เองจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่มันมีสงครามการค้าเกิดขึ้น นอกจากนั้นสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีก็เกิดขึ้น การแข่งขันไปสู่อวกาศกลับมาอีกแล้วทั้งๆ ที่เรานึกว่ามันจะจบไปตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ภาพมันก็จะเห็นชัดขึ้นมาตั้งแต่ทรัมป์ 1 ซึ่งยุคนั้นมีการเอาเปรียบเทียบว่ามันคือสงครามเย็นภาค 2 ด้วยซ้ำ”
ซึ่ง อ.ประพีร์เอง ก็ย้ำว่า ในยุคทรัมป์ 2 เอง แม้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า จีนเป็นเบอร์หนึ่งที่สหรัฐอเมริกาจะต้องมองเป็นคู่แข่งที่สําคัญ แล้วก็อาจจะพูดถึงได้ว่าเป็นภัยคุกคามที่สําคัญของสหรัฐอเมริกา
แต่ถึงอย่างนั้นอาจารย์ก็ย้ำว่า ทั้งสองประเทศ แม้จะมีความตึงเครียดระหว่างกัน แต่ก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพากันและกันด้วย
“สหรัฐอเมริกาต้องพึ่งพากรณีสินค้าของจีน เพราะถ้าไม่มี แน่นอนว่าคนอเมริกันก็ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น แล้วก็จีนเองก็ต้องพึ่งพา เพราะว่าสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่สําคัญอย่างหนึ่ง พูดกันตรงๆ ว่าการแข่งขันกัน หรือการขึ้นภาษี หรือทะเลาะกันมันไม่ดีในระยะยาว อาจารย์มองว่ายังไงในที่สุด เขาจะต้องตกลงกันอยู่แล้ว แต่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบไหน
ถ้าเราย้อนกลับไปในตอนช่วงทรัมป์สมัยแรก มันก็มีเหตุการณ์ปะทะกันในโซเชียล มีการทวีตกัน พูดอะไรใส่กันแรงๆ แต่ในที่สุดมันก็นํามาสู่การเจรจายุติสงครามการค้ากันรอบที่หนึ่งได้ แต่ก็อย่างที่ว่าทรัมป์มีแค่ 4 ปี สั้นๆ แต่สําหรับกรณีนี้ ก็ยังหวังว่าจะเจรจา เพราะมันไม่มีประโยชน์ที่จะทําสงครามกัน แต่ตอนนี้มันอาจจะเป็นเรื่องของการศักดิ์ศรี เกมการต่อรองว่าจะอยู่จุดไหน ที่จะไม่เสียหน้าซึ่งกันและกัน เพราะเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การรักษาหน้าซึ่งกันและกันเนี่ย มันก็มีความสําคัญด้วย”
แม้ว่าบางช่วงของการตึงเครียด จะมีการประกาศว่าจีน และสหรัฐฯ เจรจากันได้ ร่วมมือกันจริงอย่างที่ อ.ประพีร์ว่า ถึงอย่างนั้นก็มีแนวโน้มในที่นโยบายสหรัฐฯ ในอนาคต จะมีการกดดัน กีดกันจีนเป็นระยะบ้าง แต่ต้องดูกันในระยะยาว
“ก็อาจมีนโยบายอะไรที่เกิดในระหว่างทางตรงนั้น เพราะว่ามันมีหลายประเด็นที่สหรัฐฯ มองว่าจีนมาเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มันมีหลายประเด็นอย่างเรื่องของการแข่งขันต่างๆ ที่หลากหลายอย่างมากขึ้น ความมั่นคงการทหาร ทะเลจีนใต้ หรือไต้หวัน และการแข่งขันอื่นที่จีนอาจจะมีในอนาคต”
อาจารย์ยังชี้ว่า หากย้อนกลับไปดูอดีตที่ผ่านมา จีนก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ หรือประเด็นใดๆ แต่สุดท้ายอเมริกาก็ยังร่วมมือกับจีนต่อไป “อันนี้เราย้อนจากอดีตว่าเรามองไปทํานายอนาคตนะว่า คิดว่า 2 ชาตินี้ ก็คงยังไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้”
ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล
การปรับตัว และนโยบายไทยท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ๆ
นอกจากการแข่งขัน นโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ที่จีนได้รับผลกระทบแล้ว ประเทศอื่นๆ เองก็ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย และไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่ง อ.ประพีร์เองก็ได้เสนอว่า สิ่งหนึ่งที่ไทยควรทำคือรุกไปหาตลาดใหม่ๆ
“ถ้าพูดถึงในเรื่องของการค้า อาจารย์มองว่ายังไงเราก็คงต้องมองตลาดใหม่ๆ อยู่ ซึ่งจริงๆ ประเทศไทยก็คงทําอยู่แล้ว รุกไปยังประเทศใหม่ๆ หรืออาจจะมีคนมองว่า เราก็ต้องร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้น แต่ส่วนตัวสําหรับอาจารย์เอง อาจารย์ก็มองว่าอาเซียนก็จําเป็นแหละแต่ ณ จุดนี้มันเป็นจุดที่ตัวใครตัวมัน
เราจะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆ ในอาเซียน พยายามที่จะเข้าไปเจรจากับพยายามที่จะเข้าหาทรัมป์ให้ได้ ซึ่งนอกจากการหาตลาดใหม่ๆ แล้ว สิ่งสําคัญที่สุดก็คือการเจรจาที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องการประเทศมหาอํานาจ และนโยบายต่างๆ ที่ถูกกําหนดมาทั้งหมด ก็ทำให้ เราจําเป็นที่จะต้องเข้าหาเขา และเขาก็มีความสําคัญ แต่ก็จะเข้าหาอย่างไรให้มีศิลปะ ให้เขาสนใจเรา และก็ตกลงให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศไทยด้วย ในเวลาเดียวกันก็ทํายังไงที่ทําให้จีน มองว่าเราก็ยังเป็นมิตรกับเขา เรายังร่วมมือกับเขาได้อยู่ อันนี้เป็นจุดที่ต้องทำให้สมดุลกัน”
ในขณะที่ไทย ได้คิวการเจรจากับสหรัฐฯ ในวันที่ 3 ก.ค. 68 ฉิวเฉียดก่อนเส้นตาย 9 ก.ค.ของทรัมป์ในการประกาศใช้ภาษี อุปนายกสมาตมอเมริกันศึกษาก็มองว่า ไทยเองก็เตรียมตัวที่ค่อนข้างช้า และมีหลายอย่างที่ต้องรีบปรับตัวด้วย
“จริงๆ อาจารย์ว่าเราช้าไป เพราะพอทรัมป์ขึ้นมาจริงๆ ย้อนกลับไปในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเชียร์ฝั่งไหน ทั้งนักวิชาการไทย และต่างประเทศก็มีการวิเคราะห์กันออกมาแล้วว่า ถ้าทรัมป์มาโลกจะเป็นแบบไหน หรือจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะทรัมป์ หรือคามาลาขึ้นมา ประเทศไทยก็ทำงานหนักเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นอาจารย์มองว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญเยอะในกระทรวงการต่างประเทศ แล้วก็มีนักวิชาการประเทศไทยเก่งๆ เยอะนะคะอาจารย์ ที่เตือนว่าเราต้องเตรียมตัว ต้องมีการวางแผนว่าเราจะทํายังไง และต้องชิงทํา เป็นเชิงรุกก่อน แต่ว่าเวลามันก็ล่วงเลยมาจนทรัมป์ เอาจริงขึ้นมา จนภาษีออกมา อาจารย์ก็มองว่าไทยเราช้าไป และยิ่งช้า ไทยก็จะเสียประโยชน์”
ไม่ว่าจะสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายภาษีกับไทย หรือจีนจะเจอความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ไปถึงความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกที่อาจดำเนินต่อไป ในฐานะอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ อ.ประพีร์มองว่า ไทยก็ต้องปรับนโยบายต่างประเทศให้ทันต่อโลกที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงต้องใช้การทูตเชิงรุกมากขึ้นด้วย
“ณ ปัจจุบันนี้ โลกมีความสลับซับซ้อน และบรรยากาศของโลก มีสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ที่หลายๆ อย่างไม่เหมือนเดิมแล้ว อันนี้เชื่อว่ารัฐบาลไทยก็พยายามอยู่แล้วในการที่จะทําให้เรา หรืออย่างที่มีการพูดกันในก่อนหน้านี้ บอกว่า ทํายังไง ให้เราเป็นโดดเด่น แต่อาจารย์มองว่า เราไม่ต้องเป็น โดดเด่นก็ได้ แต่ว่าเราทํายังไงให้เราอยู่รอด ใช้ประโยชน์ และได้ประโยชน์จากสถานการณ์ตรงนี้
อาจารย์เชื่อว่ามันมีโอกาสอยู่ เพียงแต่ว่าเราจะทํายังไง เพราะการทูตเชิงรุกมีความสําคัญมากๆ ในการที่เราจะต้องรุก เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราเป็นกลางอย่างเดียวก็ไม่ได้ ณ ตอนนี้ เราต้องทําอะไรสักอย่าง ต้องตื่นตัว”
“ในอดีต เรามักพูดถึงนโยบายต่างประเทศของไทยว่า เราจะต้องเป็นไผ่ลู่ลม ไปกับลม แต่ตอนนี้เราอาจจะต้องไปกับผลประโยชน์ของชาติ เราต้องเบนไปในทางที่มันมีผลประโยชน์กับเรา เราต้องเข้าหาอันนั้นมากกว่า และอาจารย์มองว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับยุคนี้”
ทั้งในกระแสโลกที่นอกจากสหรัฐฯ ดูจะหนีออกจากการเป็นโลกาภิวัติน์มากขึ้นแล้ว โลกระหว่างประเทศเองก็มีแนวโน้มที่จะพึ่งพิงองค์การระหว่างประเทศน้อยลงด้วย
“อาจารย์มองว่าทุกประเทศ ต้องมองโลกในความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น คือเราอาจจะหวังการพึ่งพา หรือหวัง ว่าองค์การระหว่างประเทศจะช่วยเราได้ สหประชาชาติ หรืออาเซียนจะช่วยเราได้ การคุยผ่านอาเซียนจะเพิ่มเจรจากับอํานาจในการเจรจาต่อรอง อาจารย์มองว่าเราต้องกลับมาพึ่งตัวเองให้มากที่สุด แต่ก็ยังทิ้งองค์การระหว่างประเทศไม่ได้ แต่ว่าอาจจะต้องพึ่งตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง” อาจารย์ทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สหรัฐฯปลดพนักงานพุ่งสูงสุดตั้งแต่โควิด-19 อ้างผลกระทบเศรษฐกิจ
- "หุ้นเวียดนาม" นิวไฮ รอบ 3 ปี ตีปีกรับข่าว ปิดดีล "ภาษีสหรัฐฯ" ทันก่อนเส้นตาย
- สหรัฐฯ ยืนยันนิวเคลียร์อิหร่านถดถอย 1-2 ปี รับไม่ได้อิหร่านระงับร่วมมือ IAEA
- สหรัฐฯ ลงนามข้อตกลงการค้ากับเวียดนามแล้ว ลดภาษีจากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 20
- ชาติแรกอาเซียน สหรัฐฯบรรลุดีลภาษี "เวียดนาม" ลดเหลือ 20%