เปิดข้อเรียกร้องเกษตรกร รับ “อรรถกร” รมว.เกษตรฯ ป้ายแดง
วันนี้ (1 ก.ค.2568) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2567 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศ ลงวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2567 นั้น
โดยหนึ่งในรัฐมนตรีสำคัญที่เกษตรกรให้ความสำคัญและสนใจคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตรของประเทศที่ได้มีการปรับเปลี่ยนใหม่เป็นนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ที่อดีตเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาแล้ว ทั้งนี้เกษตรกรในภาคต่าง ๆ มีความหวังและมีข้อเสนออะไรบ้างกับรัฐมนตรีเกษตรฯ ป้ายแดงที่จะมาช่วยทำให้เกษตรกรสาขาต่าง ๆ มีความยั่งยืนในอาชีพ
กังวลค่าเงินบาททุบซ้ำราคายางดิ่ง
เริ่มจาก ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ที่เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 ของสยท. เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 สมาชิกทุกท่านได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศโดยเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ
อาทิ ผลผลิตล้นตลาดการนำเข้าน้ำยางข้นในราคาถูกการแข่งขันจากยางสังเคราะห์ ค่าเงินบาทที่เแข็งค่า ความต้องการใช้ยางพาราที่ลดลง และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้ว่าสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) จะได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ต่อหน่วยงานภาครัฐหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นสมาคมฯจึงขอให้รัฐมนตรีฯพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวใหม่โดยเร่งด่วนดังนี้
1.การแก้ไขปัญหาการนำเข้าน้ำยางข้นที่สวนทางกับนโยบายรัฐบาล
สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) ขอแสดงความกังวลเร่งด่วนต่อกรณีที่มีการนำเข้าน้ำยางข้นสูตรเฉพาะจากต่างประเทศในปริมาณสูงผิดปกติในปี 2567 ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสกัดกั้นการนำเข้ายางเถื่อนและควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายบริเวณชายแดนอย่างเข้มงวดการนำเข้าดังกล่าวอาจเป็นเพียงข้ออ้างของผู้ประกอบการเพื่อนำเข้ายางราคาถูก ซึ่งกำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคายางในประเทศทำให้เกษตรกรต้องขายยางต่ำกว่าต้นทุนและอาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมยางไทย
"ขอความกรุณาให้ท่านรัฐมนตรีพิจารณาและให้คำตอบเกี่ยวกับนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารจัดการและควบคุมการนำเข้ายางพารา รวมถึงให้ยกเลิกหนังสือที่ กษ0939/ว1193 ลว. 23 พฤษภาคม 2568 เพราะกรมวิชาการเรียกผู้ซื้อยางโดยยอมรับว่าราคายางต่างประเทศถูกกว่ายางในประเทศสยท. จึงของดการสั่งยางเข้าทั้งหมดโดยยกเว้นสั่งตัวอย่างไม่เกิน 5 กิโลกรัมตาม พ.ร.บ. เท่านั้นการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยางพ.ศ. 2542 รวมถึงมาตรา 26 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าเกษตร"
แนะเพิ่มรายได้ยั่งยืน ลดต้นทุนได้จริง
2. การเร่งปรับชั้นพันธุ์ยางและส่งเสริมการใช้พันธุ์ยางประสิทธิภาพสูง ตามปกติการประกาศชั้นยางจะเกิดขึ้นทุก 4 ปีแต่ปัจจุบันผ่านมาแล้วถึง 12 ปียังไม่มีการประกาศชั้นยางซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดและเกษตรกรสยท. ขอเสนอแนวทางการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตผ่านการดำเนินการดังนี้ :
"การปรับชั้นพันธุ์ยาง RRIM 600: ขอให้ท่านรัฐมนตรีใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมยางพ.ศ. 2542 มาตรา 8 สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรลดชั้นพันธุ์ยาง RRIM 600 ลงเป็นยางชั้น 3เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ (ประมาณ 220 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี) และไม่ทนทานต่อโรคทั้งที่เจ้าของพันธุ์อย่างสถาบัน RRIM ประเทศมาเลเซียได้ยกเลิกการส่งเสริมพันธุ์นี้มานานกว่า 30 ปีแล้วเพื่อเป็นการส่งเสริมและจูงใจให้เกษตรกรหันไปปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตสูงกว่าและทนโรคได้ดีกว่าเช่นพันธุ์ยาง RRIT 3904 ซึ่งให้ผลผลิตสูงถึง 400 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี"
สำหรับการสนับสนุนการใช้อีทีฟอนพลัส 5%: ในอดีตสถาบัน RRIM มาเลเซียได้ใช้อีทีฟอนพลัสเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตจากพันธุ์ยาง RRIM 600 และประเทศไทยก็เคยมีการสั่งเข้ามาใช้ได้แต่ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีข้อห้ามสมาคมฯจึงขอเสนอให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดสรรอีทีฟอนพลัส 5% ให้เกษตรกรที่ปลูกพันธุ์ RRIM 600 ฟรีเป็นระยะเวลา 2 เดือน (ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย) โดยใช้งบประมาณประมาณ 150 ล้านบาท จากเงินอุดหนุนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 มาตรา 49 (3) การดำเนินการนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำยางได้ถึง 2 เท่าช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในระยะสั้นและหลังจากนั้นขอให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)พิจารณานำอีทีฟอนพลัส 5% เข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเกษตรกรเพิ่มรายได้และรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพโดยไม่ต้องพึ่งพิงการประกันรายได้จากรัฐบาลในระยะยาว
3. การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตด้วยปุ๋ยสั่งตัด (ข้อเสนอที่กนย. เห็นชอบแล้ว)สมาคมฯขอเสนอแนวทางการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราด้วยการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัดหรือปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินซึ่งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้เห็นชอบในหลักการนี้แล้วปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากยังคงใช้ปุ๋ยเคมีในสูตรและปริมาณที่ไม่เหมาะสมซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้วยังอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตในระยะยาวการใช้ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยให้เกษตรกรสามารถใส่ปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของธาตุอาหารในดินและพืชยางแต่ละชนิดซึ่งจะช่วย:
1.ลดต้นทุนค่าปุ๋ยที่ไม่จำเป็นลงได้มาก
2.เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุอาหารของพืช
3.เพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำยางและคุณภาพของยางให้สูงขึ้น
4. รักษาสมดุลของธาตุอาหารในดินและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรและสนับสนุนให้มีการจัดหาบริการวิเคราะห์ดินและแนะนำสูตรปุ๋ยสั่งตัดที่เข้าถึงง่ายและมีราคาเหมาะสมเพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการลดภาระต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับหลักการส่งเสริมการผลิตที่มีประสิทธิภาพตามพระราชบัญญัติควบคุมยางพ.ศ. 2542
งัดยาแรง พรบ.ควบคุมยางฯ สกัดไอ้โม่งป่วนราคา
4.การเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานยางทุกชนิด ซึ่งกระทรวงฯ มี พระราชบัญญัติควบคุมยางพ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 7กำหนดให้มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับยางทุกชนิดเพื่อเป็นมาตรฐานในการซื้อขายและควบคุมคุณภาพรวมถึงการกำหนดมาตรฐานสำหรับยางสูตรพิเศษอย่างไรก็ตามเป็นเวลา 12 ปีแล้วที่ยังไม่มีการประกาศชั้นยางตามค่าที่ชัดเจนตามพิธีที่เคยปฏิบัติมาโดยประกาศ 4 ปีครั้งและมาตรฐานยางต่างๆที่เป็นปัจจุบันโดยการประกาศชั้นยางครั้งสุดท้ายในราชกิจจานุเบกษาคือเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2556 ความล่าช้านี้ถือเป็นความผิดปกติอย่างมากและส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรทำให้เกิดความสับสนในการกำหนดราคาและสร้างความเสียเปรียบในการขายผลผลิต
5.การบังคับใช้กฎหมายเพื่อความโปร่งใสในตลาดและการให้ข้อมูลแก่เกษตรกร เพื่อให้การซื้อขายยางพารามีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อเกษตรกรสมาคมฯขอความกรุณาให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดดังนี้
การรายงานข้อมูลการค้าของผู้ค้ายาง:ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมยางพ.ศ. 2542 มาตรา 23 ซึ่งกำหนดให้ผู้ค้ายางต้องจัดทำบัญชีแสดงปริมาณการซื้อยางการจำหน่ายยางและปริมาณยางคงเหลือของทุกๆเดือนและจัดส่งบัญชีดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยในการบริหารจัดการและกำกับดูแลตลาด
การแจ้งข้อมูลการขายล่วงหน้า:ขอให้กรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกลไกในการแจ้งให้เกษตรกรได้รับทราบถึงราคายางที่มีการซื้อขายล่วงหน้าเพื่อให้เกษตรกรสามารถประเมินสถานการณ์ตลาดและคำนวณช่องว่างของกำไรขาดทุนได้ล่วงหน้าซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรวางแผนการผลิตและการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ขอให้เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมยางและเรียกประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทันทีจากประเด็นปัญหาสำคัญทั้ง 5 ข้อที่ได้กล่าวมาข้างต้นสยท. จึงขอเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะผู้รับผิดชอบตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยางพ.ศ. 2542 เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมยางให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติควบคุมยางพ.ศ. 2542 มาตรา 11 โดยด่วนที่สุด
และเมื่อคณะกรรมการครบถ้วนแล้วจึงเร่งเรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมยางและได้โปรดเสนอให้นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยด่วนที่สุดเพื่อพิจารณาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงทีการปล่อยปละละเลยจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศและอาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมยางพาราไทยในที่สุด”
อย่างไรก็ดีหากข้อเสนอของ สยท. ควรให้นักวิชาการเรื่องยางวิเคราะห์หากไม่เห็นด้วยก็ควรเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นชอบทางสยท. ไม่ขัดข้องและมีความยินดีให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการโดยเร่งด่วน
ไขลาน ไร่ละพันช่วยชาวนาปรัง รับมือข้าวทะลักนาปีรอบใหม่
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า วันนี้ (1 ก.ค.68) ได้ยกหูโทรแสดงความยินกับคุณอรรถกร เรียบร้อยแล้ว และได้รับข้อเสนอจากสมาคมที่ช่วยเหลือผลักดันการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาปรังไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ที่ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เห็นชอบไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568
และล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม มีมติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 ได้ให้คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตมาจัดการประชุม วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มาเลื่อนไม่ได้ประชุม โดยกรมการข้าวแจ้งว่าเลื่อนเนื่องจากต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่มาสานต่อ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางรัฐมนตรีก็รับปากแล้ว พร้อมกับให้รีบเตรียมความพร้อมรับข้าวฤดูนาปี 2568/69 ให้เร็วที่สุด รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่ม 1,300 -1,400 กิโลกรัมต่อไร่ ตลอดจนแหล่งน้ำทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นคู คลอง หนองบึง เส้นทางต่างๆ ต้องมีน้ำไร่นาอย่างทั่วถือ
“สมาคมชาวนาฯ มีความคุ้นเคยกับรัฐมนตรีคนใหม่ ตั้งแต่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ก็ได้รับการช่วยเหลือเกษตรกรมาแล้ว ก็ทราบว่าท่านเป็นคนเก่ง เป็นลูกชาวนาแท้ และจากประสบการณ์ของรัฐมนตรีก็คาดว่าจะนำพาเกษตรกรไทยไปได้ สามารถดูแลเกษตรกรได้แน่นอน”
ราคาสินค้าเกษตรยกแผง แนะ “จำนำ-ประกันรายได้” อุ้ม
นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรทุกตัวตกต่ำลงมา ต่ำกว่าต้นทุน ก็ส่งผลทำให้ชีวิตเกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ แล้วสิ่งที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอก็เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนใหม่ ก็ต้องตอบตรงๆว่าไม่แน่ใจว่าท่านจะเข้าใจอาชีพเกษตรหรือไม่ แล้วการแก้ไขปัญหาในช่วงนี้หากจะได้ราคาปรับตัวขึ้นก็ต้องอาศัยโครงการไม่จำนำข้าว ก็ประกันรายได้เกษตรกร
“ยกตัวอย่างราคาหัวมันสำปะหลังทุกจังหวัดทั่วประเทศตกต่ำอย่างมาก เพราะโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศไม่รับซื้อเนื่องจากแผนนโยบายกระทรวงพลังงาน (0il plan 2024) ไม่ส่งเสริมน้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ทำให้การใช้มันสำปะหลังลดลง ทำให้ผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังไทยได้มีการขายตัดราคาต่ำ ๆ กันเองเพื่อแย่งลูกค้ากัน แล้วมากดราคารับซื้อหัวมันสดในราคาถูก ๆ จนทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศเดือดร้อน
จึงขอให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังหน้าโรงงาน หรือจำนำ ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท (เชื้อแป้ง 25%) ให้ทุกโรงงานทุกจังหวัดรับซื้อในราคาเดียวกัน และหากโรงงานรับซื้อไม่ถึงกิโลกรัมละ 2.50 บาท ให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร เพื่อไม่ให้เกษตรกรขาดทุน"
2.ขอให้รัฐมนตรีเกษตรฯ เสนอรัฐบาลช่วยผลักดัน E20 เป็นนำมันพื้นฐาน และ E85 กลับมาใช้ใหม่ และให้ยกเลิกเบนซินออกเทน 91 ทันที เพื่อช่วยให้โรงกลั่นเอทานอลได้ช่วยซื้อมันสำปะหลังมากขึ้น ลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ เพื่อจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาหัวมันสำปะหลังไม่ให้ตกต่ำ
3.ขอให้รัฐมนตรีฯ เสนอรัฐบาลให้กระทรวงการคลัง ออกประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายเอทานอลในประเทศ ให้สามารถจำหน่ายสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างเสรี เช่น 1.ใช้ผสมอาหาร 2.ใช้ในการผลิตสารเคมี 3.ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง 4.ใช้ในเภสัชกรรมและสาธารณสุข 5.ในอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ 6.ใช้ในอุตสาหกรรมสีและสารเคลือบ 7.ใช้ทำความสะอาด 8.ใช้สกัดสมุนไพรต่าง ๆ โดยไม่ต้องกำหนดให้ใช้ผสมน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้นตาม พ.ร.บ.สุราสามทับ ก็จะช่วยทำให้การใช้หัวมันสำปะหลังภายในประเทศมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาตลาดมันเส้นส่งออกมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังในประเทศตกต่ำ
ดันกฎหมายปาล์ม ช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาราคาครบวงจร
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่าอยากจะฝากพระราชบัญญัติปาล์มฯพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มให้มีรายได้ที่มั่นคงและเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจ ของไทยที่มีความสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน มีเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันมากกว่า 200,000 ราย มีพ่อค้าผู้รวบรวมผลปาล์มน้ำมันหรือลานเทมากกว่า 1,800 ราย ด้านอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ทั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตไบโอ ดีเซล รวมประมาณ 190 โรงงาน คิดเป็นปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ 1.89 ล้านตัน ซึ่งเป็นอันดับสามของโลกรองจาก ประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาลาเซีย
“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาในปีนี้ถือว่าล้มเหลว แล้วเข้าทางโรงงาน โดยขอให้เลิกการคุมราคาปาล์มขวด เป็นการปรับราคาแบบลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาดตามความเป็นจริง อย่าไปบิดเบือน เนื่องจากราคาซีพีโอในตลาดโลกขยับสูงขึ้นแล้ว แต่ในประเทศไปกดราคาต่ำไว้ ส่งผลทำให้ราคาผลปาล์มที่เกษตรกรขายได้ต่ำกว่าราคาเป็นจริง”
นายมนัส กล่าวถึงรัฐมนตรีเกษตรฯ ที่อยู่ฝ่ายผลิต ก็เหมือนกับดาบสองคม หากต้องเพิ่มผลผลิตก็ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มก็มาโยงกับราคาปุ๋ยที่รัฐบาลมีโครงการให้กับเกษตรกรก็มีปัญหาเนื่องจากเกษตรกรไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ ก็ซื้อไม่ได้ เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. และไม่ได้อยู่ในเครือข่ายสหกรณ์ก็ซื้อไม่ได้ แต่ถ้าไปอยู่ในร้านค้าเอกชน ก็ทางรัฐจะโดนกล่าวว่าไปช่วยเอกชนรวย ซึ่งในมองเกษตรกรไม่ใช่ เพราะเกษตรกรใกล้ร้านไหนก็ซื้อร้านนั้น อย่าไปจำกัด ถ้าต้องการช่วยจริง ต้องช่วยอำนวยความสะดวกด้วย และยิ่งราคาปาล์มอย่างนี้ก็ไม่มีเงินที่จะไปจ่ายเงินให้กับ ธ.ก.ส.เพราะต้องจ่ายเงินสด ดังนั้นหากมีโครงการใหม่ต้องครอบคลุมและไม่ต้องล็อคเสป็คการซื้อขาย เหมือนแจกคูปองแล้วให้เกษตรกรไปซื้อร้านค้าไหนก็ได้ที่เข้าร่วมโครงการ อย่างนี้สะดวกสุด”
หนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอ เพิ่มรายได้
ปิดท้ายด้วย นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า นายอรรถกร พื้นเพอยู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ฝากความหวังเนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งผลิตรายใหญ่ผู้เลี้ยงสุกรซึ่งอยู่ในระแวกนั้น มีทั้งสหกรณ์ รายย่อย ก็หวังว่าท่านจะช่วยผลักดันนโยบายผลักดันในเรื่องการเลี้ยงให้ครอบคลุม และช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะส่งเสริมการปลูกวัตถุดิบในประเทศ ให้เพิ่มผลผลิตมากกว่านี้ ต้องมีการนำเข้ามาในแต่ละปีสูงมาก จากการขาดแคลนทำให้วัตถุดิบในประเทศราคาสูงมาก ส่งผลให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนสูงมาก
โดยเฉพาะถั่วเหลืองในประเทศ ปลูกให้คนในรับประทานอย่างเดียว เช่น น้ำเต้าหู้ เป็นต้น ไม่เพียงพอมาถึงภาคปศุสัตว์ ก็ต้องนำเข้าเกือบ 100% รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วย ก็ยังขาดกว่า 50% ก็ต้องส่งเสริมให้ทำแปลงใหญ่ ให้หันมาปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอเลย เนื่องจากส่วนใหญ่นำข้าวโพดจีเอ็มโอเข้ามาอยู่แล้ว ผลผลิตจะได้มากขึ้น และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งรอบประเทศตอนนี้ปลูกจีเอ็มโอหมดแล้ว ที่สำคัญอาหารสัตว์จะได้ราคาถูกลง มีผลดีต่อเนื้อสัตว์ราคาก็ไม่ได้สูง ผู้บริโภคในประเทศจะได้อาหารที่ดี แล้วต่างประเทศก็ลักลอบเข้ามาไม่ได้ด้วย