เช็กความเสี่ยงสินค้าเกษตรไทย หากเปิดตลาดให้สหรัฐฯ ‘แบบไร้เงื่อนไข’ SCB EIC ชี้ กลุ่มสินค้าหมู ไก่ ข้าวโพด ‘อ่อนไหวสูง’ เสี่ยงกระทบแรงงานหลายแสนราย
SCB EIC ชี้ หมู ไก่ และข้าวโพด อ่อนไหวสูง เสี่ยงกระทบเกษตรกรกว่า 5.96 แสนครัวเรือน หากไทยเปิดตลาดให้สหรัฐฯ อย่างไม่มีเงื่อนไข แนะภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานฟาร์มไทย
SCB EIC ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไทยเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ อย่าง ‘ไม่มีเงื่อนไข’ โดยชี้ว่าภาคการเกษตรและปศุสัตว์จัดเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อผลการเจรจา เนื่องด้วยราคาสินค้าที่ต่ำลง อาจกดดันให้เกษตรกรผู้ผลิตตัดสินใจล้มเลิกกิจการ เพราะแข่งขันต่อไม่ไหว ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบของไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ปัจจุบันไทยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าเนื้อสุกรไว้ที่ 40% และแบนการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ เรื่อยมา จากประเด็นการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine)
ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงมองว่าได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากไทย และพยายามกดดันให้ไทยเปิดตลาดเนื้อสุกรมาโดยตลอด
ดังนั้นการเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสหรัฐฯ จึงอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเจรจาปรับลดอัตราภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) แต่เสี่ยงที่จะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่มีความอ่อนไหวแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มสินค้า
หมู ไก่ ข้าวโพด อ่อนไหวสูง เสี่ยงกระทบเกษตรกร 5.96 แสนครัวเรือน
เนื้อสุกร เนื้อไก่ เครื่องใน และข้าวโพด จัดเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากไทยพึ่งพาการผลิตในประเทศเป็นหลัก จึงไม่มีการนำเข้าเนื้อสุกรและเนื้อไก่เลย แต่ยังมีการนำเข้าข้าวโพดอยู่บ้างราว 22% ของการบริโภคในประเทศ
ด้วยต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าสหรัฐฯ ประกอบกับมีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก การเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมู เนื้อไก่ และข้าวโพดจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับลดลงอย่างมาก กดดันให้เกษตรกรโดยรวมมีรายได้ลดลง จนอาจต้องยุติการผลิตเพราะแข่งขันต่อไปไม่ไหว
แม้ผู้บริโภคจะได้อานิสงส์จากราคาสินค้าและวัตถุดิบที่ต่ำลง แต่จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบของไทย เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น
โดยต้นทุนการเลี้ยงสุกรและไก่ในไทย สูงกว่าต้นทุนการเลี้ยงสุกรและไก่ในสหรัฐฯ มากถึง 27% แม้ว่าจะนับรวมต้นทุนค่าขนส่งมายังไทยด้วยแล้วก็ตาม ส่วนต้นทุนผลิตข้าวโพดไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ราว 9%
ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตข้าวโพดในไทยมีจำนวนมากถึง 4.2 แสนราย มีเกษตรกรผู้ขุนสุกร 1.5 แสนราย และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ 0.26 แสนราย
กลุ่มอ่อนไหวปานกลาง-ต่ำ แข่งขันสูงขึ้น แต่กระทบในวงแคบ
สำหรับกลุ่มเนื้อวัวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวในระดับปานกลาง เนื่องจากในปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในจากต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้าอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)
หากไทยเปิดตลาดเนื้อวัวให้สหรัฐฯ เพิ่มเติม จะทำให้ผู้ผลิตในประเทศเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในบางกลุ่มสินค้า เช่น เนื้อวัวเกรดพรีเมียม
ในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่ำ เช่น ถั่วเหลือง ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่ในปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ และในวงจำกัด
แนะภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานฟาร์มไทย พร้อมประเมินผลกระทบการเจรจาอย่างถี่ถ้วน
ทั้งนี้ SCB EIC ได้มอบข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นได้แนะให้ภาครัฐประเมินผลกระทบของการเปิดตลาดอย่างถี่ถ้วน โดยอาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข พร้อมเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและการหาตลาดใหม่ ผ่านวงเงินที่เหลือจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น SCB EIC ยังประเมินอีกด้วยว่า รัฐบาลอาจพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ผ่านการใช้งบกลาง ที่เป็นรายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน หรือปรับปรุงงบประมาณฯ ปี 2569 บางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินรับมือวิกฤต ดังที่เคยทำในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่ก็เตือนว่าแนวทางดังกล่าวอาจสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มหนี้สาธารณะได้
ส่วนมาตรการในระยะยาว SCB EIC แนะให้ภาครัฐเร่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ ผ่านการส่งเสริมมาตรฐานฟาร์มและโรงงาน ปรับกระบวนการผลิตให้ตอบโจทย์เทรนด์ ESG หรือใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยลดต้นทุน พร้อมกับแนะให้ไทยกำหนด ‘Red Line’ ที่ชัดเจน สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของอาหารในระยะยาว
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต