“อรรถกร”มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเป็นรูปธรรม
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้แก๊สเอทิลีร่วมกับการติดตั้งระบบน้ำในสวนยางพารา “สวนยางอารยเกษตร” พัทลุงโมเดล าร โดยมี นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ดร.เพิก เลิศวังพง รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. พร้อมด้วยคณะกรรมการ กยท. และผู้บริหารระดับสูง ร่วมพิธี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดการพื้นที่เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ท่ามกลางบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น โครงการฯ นี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการระหว่าง กยท. และ กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ สะท้อนถึงเป้าในการมุ่งมั่นยกระดับการทำเกษตรกรรมโดยปรับใช้แนวคิดการจัดการสวนยางที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรชาวสวนยางมีชีวิตรอดบนพื้นฐานความพอเพียงที่ยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนสร้างความมั่นคงในระดับครัวเรือนของชาวสวนยาง โดยผสานองค์ความรู้ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อให้สวนยางกลายเป็นแหล่งผลิตที่ให้ทั้งรายได้ อาหาร และความยั่งยืนในระยะยาว
ด้าน ดร.เพิก กล่าวว่า กยท. มุ่งขับเคลื่อนแนวทางการทำสวนยางแบบ “อารยเกษตร” ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการสวนยางแนวใหม่ ที่ผสานองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่สวนยางอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กยท. ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ควบคู่กับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ผ่านโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” และ “อำเภออารยเกษตร” ซึ่งเน้นการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรให้เกิดความหลากหลายและสมดุล ใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด เกิดความมั่นคงทางอาหาร และช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
โครงการส่งเสริมการใช้แก๊สเอทิลีนร่วมกับการติดตั้งระบบน้ำในสวนยางพารา “สวนยางอารยเกษตร” พัทลุงโมเดล กยท. ได้บูรณาการความร่วมมือจากกรมชลประทาน ปากพนังบน ในการวางระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยใส เข้าสู่พื้นที่สวนยางอารยเกษตรของเกษตรกร (ในระยะแรก) จำนวน 13 ราย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 80.80 ไร่ โดยระบบน้ำดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในหลากหลายกิจกรรม ทั้งการให้น้ำแก่ต้นยางโดยตรง การให้น้ำแก่พืชแซมยาง และการทำประมงในสวนยาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสวนอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ กยท. ยังสนับสนุนการนำนวัตกรรมแก๊สเอทิลีน มาใช้ในการเพิ่มผลผลิตยางพารา ซึ่งช่วยกระตุ้นให้น้ำยางไหลได้นานขึ้น และส่งผลให้ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้เพิ่มขึ้นด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการพัฒนาอาชีพสวนยางอย่างยั่งยืน