รัฐบาลเร่งปราบภัยไซเบอร์ เตือนภัยวัยทำงานตกเป็นเหยื่อโกงออนไลน์
เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 19 ก.ค. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรืออีทีดีเอ รายงานสถิติการร้องเรียนในช่วงปี 2567 พบกรณีมีโฆษณาหลอกลวงกว่า 3,381 เรื่อง ทั้งการหลอกลงทุน แอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียง ขายสินค้าปลอม รวมถึงการปลอมแปลงเป็นสถาบันการเงินหรือสร้างเพจปลอม สร้างความเสียหายรวมกว่า 19,000 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 1 ปี ด้านกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) รายงานว่า ในปี 2567 มีการแจ้งความคดีอาชญากรรมไซเบอร์มากกว่า 400,000 คดี มูลค่าความเสียหายรวมสูงกว่า 60,000 ล้านบาท และในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มีการแจ้งความสะสมแล้วถึง 166,000 คดี โดยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นคดีเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายหลัก คือผู้หญิงวัยทำงาน คิดเป็นสัดส่วน 64 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มผู้ใช้งานดิจิทัลประจำตกเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มมิจฉาชีพ
นายอนุกูล กล่าวอีกว่า ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยกระดับการกำกับดูแล หากยังพบความเสี่ยงแพลตฟอร์มอาจถูกจัดให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องปฏิบัติตามหน้าที่เพิ่มเติมตามกฎหมาย และจะมีบทลงโทษหากฝ่าฝืน โดยล่าสุด สพธอ. ได้ออกประกาศ ที่ ธพด. 4/2568 เรื่อง กำหนดรายชื่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่งพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2568
นายอนุกูล กล่าวว่า รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเฉพาะการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 (กฎหมายดีพีเอส) ซึ่งได้วางกลไกการดำเนินงานที่ครอบคลุม ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการปฏิบัติ เสริมบทบาทความรับผิดชอบของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ต่อเนื้อหาที่ปรากฏบนระบบของตนเอง ขอย้ำเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรมทางออนไลน์ทุกครั้ง หากพบพฤติกรรมต้องสงสัยสามารถแจ้งผ่านสายด่วนศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 1441 หรือเว็บไซต์www.thaipoliceonline.com