ผปค.ควรรู้! สอนเด็กก่อนวัยเรียนด้วย "กฎ 5 นิ้ว" ป้องกันความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ
พ่อแม่ผู้ปกครองควรรู้ สอนเด็กก่อนวัยเรียนให้รู้จัก "กฎ 5 นิ้ว" เข้าใจง่าย ช่วยให้เด็กเล็กหลีกเลี่ยงคนแปลกหน้าและปกป้องตัวเองได้
ช่วงที่ผ่านมา มีคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กปฐมวัยเกิดขึ้นหลายกรณี สร้างความกังวลในสังคม ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า เด็กในวัยนี้เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เพราะยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการแยกแยะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และยังขาดทักษะในการปกป้องตนเอง
ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรเริ่มสอนลูกให้รู้จักการป้องกันตัวเองจากสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีที่อ่อนโยน เข้าใจง่าย และเหมาะสมกับวัย
“กฎ 5 นิ้วมือ”
เป็นกฎง่ายๆ ที่เด็กสามารถจดจำและนำไปใช้ได้จริง
- นิ้วหัวแม่มือ – นิ้วที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด สื่อถึงคนในครอบครัวที่ใกล้ชิด เช่น ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ พี่น้อง เด็กสามารถกอดหรือให้คนเหล่านี้กอดได้ เพื่อแสดงความรัก หรือช่วยอาบน้ำตอนยังเล็ก แต่เมื่อโตขึ้น เด็กควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าเองในที่ส่วนตัว
- นิ้วชี้ – แทนคุณครู เพื่อนที่โรงเรียน หรือญาติพี่น้องที่รู้จัก เด็กสามารถจับมือ โอบไหล่ หรือเล่นด้วยกันได้แค่ในระดับนั้น หากมีใครแตะต้อง “บริเวณชุดว่ายน้ำ” เด็กต้องรีบร้องตะโกนและเรียกหาแม่ทันที
- นิ้วกลาง – แทนคนรู้จักที่เจอกันไม่บ่อย เช่น เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนของพ่อแม่ เด็กควรทักทายด้วยการจับมือ ยิ้ม หรือพูดคุยเบา ๆ เท่านั้น
- นิ้วนาง – แทนคนรู้จักของครอบครัวที่เด็กเพิ่งพบเป็นครั้งแรก เด็กควรทักทายแค่เพียงโบกมือ ไม่ควรเข้าใกล้มากกว่านี้
- นิ้วก้อย – นิ้วที่อยู่ไกลที่สุด แทนคนแปลกหน้า หรือคนที่มีท่าทีสนิทสนมเกินเหตุจนทำให้เด็กรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจ เด็กมีสิทธิ์หนี หรือตะโกนดัง ๆ เพื่อให้คนรอบข้างมาช่วยทันที
iStockphoto
"กฎกางเกงใน"
นอกจากกฎ 5 นิ้วแล้ว พ่อแม่ยังควรสอนลูกเกี่ยวกับ “กฎกางเกงใน” ซึ่งเป็นแนวทางง่าย ๆ ที่ช่วยให้เด็กหลีกเลี่ยงอันตรายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกเริ่มใส่กางเกงในตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบ และบอกกับลูกว่า หากมีใครแตะต้องบริเวณที่กางเกงในปิดอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต นั่นคือสิ่งที่ไม่ปลอดภัย และคนคนนั้นถือว่าเป็นคนไม่ดี
ให้ลูกเข้าใจว่า ร่างกายเป็นของเขาเอง ไม่มีใครมีสิทธิ์แตะต้องร่างกายของเขา หากสิ่งนั้นทำให้เขาไม่สบายใจ และหากเจอเหตุการณ์แบบนั้น ให้พูดว่า “ไม่” ได้ทันที
เด็กต้องรู้ว่าเขามีสิทธิ์ปฏิเสธการสัมผัสที่ไม่พึงประสงค์จาก ใครก็ตาม แม้แต่คนในครอบครัวเอง เพราะความปลอดภัยของเขาต้องมาก่อนเสมอ
Liliana Drew
พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง “ความลับดี” และ “ความลับร้าย”
เช่น คำพูดอย่าง “นี่เป็นความลับระหว่างเราสองคน อย่าบอกใครนะ” มักมาจากคนที่มีเจตนาร้าย และอาจทำให้เด็กรู้สึกกังวล กลัว และไม่กล้าบอกใคร
“ความลับดี” อาจเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ เช่น ของขวัญ หรือปาร์ตี้
แต่ “ความลับร้าย” คือสิ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกเศร้า กังวล หรือหวาดกลัว เด็กควรได้รับการสอนให้กล้าพูดออกมา
พ่อแม่ควรบอกกับลูกว่า เมื่อรู้สึกไม่สบายใจ กลัว หรือกังวล ควรรีบบอกคนที่ไว้ใจได้ เช่น พ่อแม่ พี่สาว ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้
การสอนลูกให้รู้เท่าทันเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ต้องเป็นการอบรมแบบรอบด้าน
ไม่เพียงแต่สอนให้เป็นเด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออกเท่านั้น แต่ยังต้องฝึกให้มีทักษะชีวิตอื่น ๆ ด้วย เช่น
- ทักษะการปฏิเสธ
- ทักษะการพูดว่า “ไม่” อย่างชัดเจน
- ทักษะการกล้าแสดงความคิดเห็น
- ทักษะการขอความช่วยเหลือ เช่น โทรหาพ่อแม่ หรือแจ้งตำรวจ
เมื่อเด็กมีความมั่นใจและทักษะในการปกป้องตนเอง ไม่เพียงช่วยป้องกันการถูกล่วงละเมิดเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เขาพร้อมรับมือกับภัยคุกคามอื่น ๆ เช่น การถูกรังแกหรือการถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างเข้มแข็งอีกด้วย