สตูลรวมพลังศรัทธา "กวนขนมอาซูรอ" ขนมแห่งความเชื่อมั่น หอมกลิ่นวัฒนธรรมโบราณ สืบสานถึงลูกหลาน
สตูลรวมพลังศรัทธา "กวนขนมอาซูรอ" ขนมแห่งความเชื่อมั่น หอมกลิ่นวัฒนธรรมโบราณ สืบสานถึงลูกหลาน
สตูล – กลิ่นหอมของธัญพืชและสมุนไพรพื้นบ้านคลุ้งไปทั่วลานวัฒนธรรม “คฤหาสน์กูเด็น” ใจกลางเมืองสตูล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา เมื่อพี่น้องชาวมุสลิมจากทั้ง 7 อำเภอ พร้อมเยาวชนและประชาชนทุกศาสนา ร่วมใจกัน “กวนขนมอาซูรอ” ขนมโบราณแห่งศรัทธาที่ทำเพียงปีละครั้ง ภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยใช้ขนมเป็นสื่อกลางแห่งการเรียนรู้ ความสามัคคี และสืบทอดเรื่องราวทางศาสนาและประวัติศาสตร์สู่คนรุ่นใหม่
ขนมอาซูรอ หรือ “ข้าวอาซูรอ” มีจุดกำเนิดจากตำนานศาสดานบีนุฮ (อะลัยฮิสสลาม) ที่เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมโลก ได้ให้ผู้รอดชีวิตรวบรวมอาหารทุกอย่างที่มีมาผสมรวมกันและกวนเป็นอาหารเพื่อแบ่งปันและความอยู่รอดร่วมกัน เป็นที่มาของขนมที่เต็มไปด้วยความหมายทางจิตวิญญาณ ความหวัง และการอยู่ร่วมอย่างเข้าใจ
ในงานมีการแข่งกวนขนมจากตัวแทน 7 อำเภอ โดยใช้กระทะขนาดใหญ่ 7 ใบ กวนพร้อมกันนานถึง 4ชั่วโมง วัตถุดิบหลากหลาย เช่น เผือก มัน ฟักทอง กล้วย มะละกอ ถั่ว ข้าวสาร ไปจนถึงผลไม้ตามฤดูกาลอย่างทุเรียน และเครื่องเทศไทยพื้นบ้าน เช่น ข่า ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ผักชี และกะทิสด ซึ่งต้องอาศัยแรงกายแรงใจของทุกคนในชุมชน
บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เด็ก ๆ เยาวชนร่วมเรียนรู้ด้วยความตื่นเต้น พร้อมร่วมกิจกรรมนิทรรศการ "รากเหง้าวัฒนธรรมอาหารมุสลิม" ที่จัดแสดงภาพเก่า วัตถุดิบ และเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ น้องนักเรียนจากโรงเรียนในเมืองสตูลเล่าว่า “ดีใจมากที่ได้มารู้ว่าขนมอาซูรอมีตำนานศาสนาเกี่ยวข้องด้วย และทุกคนช่วยกันกวนอย่างมีความสุขเลย”
นายกิตตพงษ์ แก้วยอดทอง วัฒนธรรมจังหวัดสตูล กล่าวว่า “ขนมอาซูรอไม่ใช่แค่ขนมพื้นบ้าน แต่มันคือเครื่องมือเชื่อมใจคนต่างศาสนาในจังหวัดสตูลให้เข้าใจกันมากขึ้น เป็นวัฒนธรรมที่กินใจ และควรส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้และมีส่วนร่วม”
เมื่อขนมกวนจนได้ที่ เนื้อจะเหนียว ยืด กลิ่นหอมเฉพาะตัว ตักใส่ภาชนะ เช่น ใบตอง พิมพ์ลายดอกไม้ หรือถาดไม้ โรยหน้าด้วยงาดำ ก่อนจะมีผู้อาวุโสกล่าว "ดูอา" หรือคำขอพร แล้วจึงแจกจ่ายให้ชาวบ้านอย่างทั่วถึง ทุกคนได้ชิม ได้รู้จัก ได้ซาบซึ้งกับวัฒนธรรมร่วมกัน
นายคัมพร ทิพากร ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสตูล กล่าวเสริมว่า “นี่คือการฟื้นคืนวัฒนธรรมที่แท้จริง การกวนขนมอาซูรอเป็นทั้งประเพณี พิธีกรรม และบทเรียนชีวิต ที่ทุกศาสนา ชาติพันธุ์ในสตูลสามารถทำร่วมกันได้ จังหวัดเราคือเมืองพหุวัฒนธรรม และขนมนี้เป็นสัญลักษณ์ของการรวมพลังแห่งความดีงาม”
สำหรับปีนี้ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมในระดับจังหวัด ยังจะมีการจัดต่อในระดับภูมิภาค เพื่อสืบสานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในเวทีวัฒนธรรมระดับประเทศ
ขนมอาซูรอ ไม่ได้หาทานง่าย ๆ เพราะจะจัดทำเพียงปีละครั้ง ในเดือนมูฮัรรอม ตามปฏิทินอิสลามเท่านั้น แต่มากไปกว่ารสชาติ คือคุณค่าทางจิตใจ และบทเรียนที่สอนว่า ความร่วมมือ ความเข้าใจ และความศรัทธา คือรากฐานของสังคมที่งดงามอย่างแท้จริง