‘นิรันดร์’ ระบบดูแลสังคมสูงวัยในยุคดิจิทัล จุดเปลี่ยนสำคัญเพื่ออนาคตประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยในปี พ.ศ. 2567 จำนวนประชากรสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีประมาณ 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปีเนื่องจากอัตราการเกิดลดลง ซึ่งสะท้อนถึงภาระที่รัฐและสังคมต้องแบกรับ ทั้งในด้านงบประมาณและระบบบริการสุขภาพ
กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้จัดทำ “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ แก้วิกฤติประชากร” โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พัฒนาระบบการปฏิบัติงานสำหรับผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ “Nirun for community” หรือระบบ “นิรันดร์”เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของ "ผู้บริบาล"ภายใต้โครงการฯ ให้ปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก ลดการกรอกเอกสาร พร้อมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปต่อยอดวิจัย วางแผนนโยบาย และแก้ปัญหาระดับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยในประชากร 5 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะมีมากกว่า 20 ล้านคน หรือในประชากรทุก 3 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤต ดั้งนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบการบริหารจัดการและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุที่มีจํานวนเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี กรมกิจการผู้สูงอายุจึงได้ริเริ่มโครงการผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพกายที่แข็งแรง มีสภาพจิตใจที่ดี ลดภาระการรักษาพยาบาล และไม่เป็นภาระต่อสังคม โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สร้างผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ทำหน้าที่ดุจลูกหลานของคนในชุมชน เพื่อปกป้อง คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ช่วยเหลือดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมาแล้วกว่า 2 ปี ครอบคลุม 156 พื้นที่ ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีผู้บริบาลในโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 342 คน และมีผู้สูงอายุได้รับการดูแลจำนวนมากกว่า 342,000 คน หรือผู้บริบาล 1 คน ดูแลผู้สูงอายุ 100 คน
"ความท้าทายของโครงการนี้ คือ การดูแลผู้สูงอายุระดับแสนคนด้วยผู้บริบาลหลักร้อยคน จึงจำเป็นต้องมีระบบที่ช่วยบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมกิจการผู้สูงอายุได้รับความร่วมมือจาก สวทช. พัฒนาระบบนิรันดร์เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานโครงการนี้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ นอกจากช่วยตรวจสอบการทำงานของผู้บริบาลให้ได้มาตรฐานแล้ว ระบบนิรันดร์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญด้านข้อมูลนโยบาย ทำให้รัฐรู้สถานการณ์จริง เช่น ผู้สูงอายุติดบ้าน-ติดเตียงมีสัดส่วนเท่าใด เพิ่มหรือลดลงอย่างไร และช่วยกำหนดทิศทางการใช้งบประมาณได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลที่ได้จากระบบนิรันดร์ยังเป็นฐานสำคัญในการทำวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ประเทศไทยกำหนดนโยบายผู้สูงอายุในอนาคตได้อย่างแม่นยำ"
ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนงานระบบสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ สวทช. กล่าวว่า สวทช. พัฒนาระบบ “นิรันดร์” ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนโครงการบริบาลสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน โดยเป็นเครื่องมือช่วยผู้บริบาลในการทำงาน เช่น บันทึกข้อมูลผู้สูงอายุรายบุคคล ติดตามกิจกรรมและการดูแลในแต่ละวัน สรุปผลสุขภาพของผู้สูงอายุในโครงการ และสรุปผลการทำงานของผู้บริบาล
"ระบบนิรันดร์สามารถประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ เช่น อายุ โรคประจำตัว คะแนนประเมิน ADL และแสดงผลเป็นแผนการดูแลเบื้องต้น (Recommended Care Plan) หรือข้อแนะนำในการดูแล เช่น ควรให้กายภาพบำบัด ควรเฝ้าระวังโภชนาการ เพื่อให้ผู้บริบาลนำไปปรับใช้กับผู้สูงอายุแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ข้อมูลจากระบบยังใช้ได้ในระดับนโยบาย โดยกระทรวง พม. สามารถนำไปกำหนดยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุในภาพรวมของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สวทช. ในมิติลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จากการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (AI-C) ตามกลยุทธ์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (S&T Implementation for Sustainable Thailand)”
ด้านนายธาวินทร์ ลีลาคุณารักษ์ ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กล่าวว่า ระบบนิรันดร์ช่วยให้การทำงานของผู้บริบาลสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งในการบันทึกข้อมูลรายวัน ติดตามการดูแลผู้สูงอายุแบบ Real Time และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ระบบยังช่วยให้ค้นหาข้อมูลผู้สูงอายุได้สะดวกและรวดเร็วด้วยโทรศัพท์มือถือ แทนการค้นหาจากเอกสารกระดาษแบบเดิม และระบุพิกัดที่อยู่ของผู้สูงอายุได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดเวลาในการลงพื้นที่ และที่สำคัญ ข้อมูลที่บันทึกไว้สามารถนำไปวิเคราะห์วางแผนการดูแลรายบุคคลและรายพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ซึ่งช่วยให้ผู้บริบาลสามารถประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว
“นิรันดร์” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุของไทยในยุคดิจิทัล ภายใต้การทำงานของ "ผู้บริบาล" ที่ยึดหลัก “ดูแลด้วยใจ” และ “ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด” อันจะนำไปสู่การใช้ข้อมูลขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศอย่างแท้จริง