DEIIT วิเคราะห์ 3 ฉากทัศน์ผลกระทบเศรษฐกิจชายแดน “ไทย-กัมพูชา”
จากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาที่ยังมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน นับตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา
ต่อกรณีดังกล่าวรศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า DEIIT ได้ประเมินและคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกรณี "ปิดด่านชายแดนไทย–กัมพูชาทั้งหมดW ประกอบด้วย
ปิดด่าน 3 เดือน : ชะลอตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นเสียหายถาวร
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
- มูลค่าการค้าชายแดนที่หายไปอาจอยู่ที่ประมาณ 45,000–50,000 ล้านบาท (คิดเฉลี่ยจากมูลค่าการค้าเฉลี่ยเดือนละ ~15,000–17,000 ล้านบาท)
- ธุรกิจอาจต้อง เร่งส่งสินค้าผ่านเส้นทางทางเรือ โดยมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 10–25%
ความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ
- ผู้ส่งออกขนาดใหญ่ มีศักยภาพปรับตัวได้ผ่านการใช้ท่าเรือ หรือส่งผ่านเวียดนาม
- SMEs เผชิญปัญหาแรงจากต้นทุนและข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้ที่พึ่งพาด่านชายแดนโดยตรง
ปิดด่าน 6 เดือน : ธุรกิจเริ่มเสียสมดุล
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
- มูลค่าการค้าหายไปอาจสูงถึง 90,000–100,000 ล้านบาท หรือราว 30–35% ของมูลค่าทั้งปี
- ความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุนในตลาดกัมพูชาจะลดลง
- การท่องเที่ยวข้ามแดนหยุดชะงัก ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารฝั่งกัมพูชาที่พึ่งตลาดนักท่องเที่ยวจากไทยอาจปิดตัว
ความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ
- ธุรกิจจะต้อง หาตลาดใหม่หรือย้ายฐานการผลิตบางส่วน เช่น ผ่านเวียดนามหรือพนมเปญโดยตรง
- การวางระบบโลจิสติกส์ระยะกลาง เช่น เช่าคลังในฝั่งกัมพูชา หรือ ใช้ท่าเรือสีหนุวิลล์ มากขึ้น
ปิดด่าน 1 ปี (ระยะยาว) : เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้าง
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
- การค้าชายแดนอาจหายไปถึง 150,000–170,000 ล้านบาท หรือเกือบ 60% ของการค้าระหว่างประเทศ
- ไทยอาจสูญเสียตลาดกัมพูชาในบางสินค้า ให้แก่จีนหรือเวียดนามแบบถาวร
- นักลงทุนไทยอาจ ย้ายฐานไปประเทศอื่น หรือถอนการลงทุนบางส่วน
ความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ
- ผู้ประกอบการไทยจะเข้าสู่ ระยะ "ดิสรัปชั่น" (Disruption) ต้องลงทุนใหม่หรือถอนตัวบางส่วน
- SMEs จำนวนมากอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะในธุรกิจโลจิสติกส์ชายแดน
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบกับกรณีความขัดแย้งชายแดนเมื่อปี 2554 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 เดือน กว่าการค้าจะกลับสู่ภาวะปกติ ครั้งนี้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างไรจะอยู่ที่การเจรจาหยุดยิงและการเปิดด่านตามแนวชายแดนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าตามแนวชายแดนในปี พ.ศ. 2568 มีโอกาสขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวเป็นบวก