SOCIETY: นานาชาติมีถ้อยแถลงต่อสถานการณ์ ระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างไรบ้าง? หลังเหตุปะทะของวันที่ 24 กรกฎาคม 2568
สถานการณ์การปะทะตามแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2568 กลายเป็นเรื่องที่นานาชาติจับตามองและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ต่อเรื่องนี้เราจึงอยากชวนมาสำรวจท่าทีและถ้อยแถลงของประเทศต่างๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากไทยและกัมพูชา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและแนวทางของนานาชาติในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
🇺🇸[สหรัฐอเมริกา]
สำนักงานโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้มีแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 (ตามเวลาประเทศไทย) ระบุว่า
“สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับรายงานการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เรารู้สึกตกใจเป็นอย่างมากกับรายงานถึงอันตรายที่เกิดขึ้นกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์
“เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียชีวิต เราเรียกร้องอย่างจริงจังให้ยุติการโจมตีโดยทันที ปกป้องพลเรือน และระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี”
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้แจ้งต่อพลเมืองสหรัฐฯ ที่อาศัยหรือเดินทางใกล้บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากหน่วยงานความมั่นคงของไทย และติดต่อสอบถามข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานราชการในพื้นที่
🇨🇳[จีน]
มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศของจีนถึงการแถลงข่าวและตอบคำถามสื่อของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ‘กัว เจียคุน’ (Guo Jiakun) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ในประเด็นระหว่างไทย-กัมพูชา โดยการตั้งคำถามของสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters)
กัวระบุว่า “ไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีน และเป็นสมาชิกที่สำคัญของอาเซียน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างเหมาะสม เป็นผลประโยชน์พื้นฐานและยั่งยืนของทั้งสองฝ่าย
“จีนมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาและปรึกษาหารืออย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมและความห่วงใยของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
“จีนยึดมั่นในจุดยืนที่เป็นธรรมและเป็นกลาง พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพตามแนวทางของเรา และจะมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการคลี่คลายสถานการณ์ต่อไป”
🇷🇺[รัสเซีย]
สื่อรัสเซียมีรายงานถึงการแถลงของมาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568
เธอกล่าวว่า “ฝ่ายรัสเซียแสดงความห่วงกังวลต่อการยกระดับความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น พร้อมทั้งเร่งให้เกิดการเจรจา เพื่อแก้ไขความเห็นต่างระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างสันติ
“ข้อพิพาทเรื่องพรมแดนจำนวนมากทั่วโลกเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากนโยบายล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก
“เรามีเชื่อว่า ในบริบทของสถานการณ์ที่กำลังถดถอยลงโดยรวมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การแสวงหาแนวทางในการแก้ไขข้อพิพาทที่มีอยู่ ด้วยจิตวิญญาณแห่งเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันซึ่งเป็นหัวใจของอาเซียน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง”
🇲🇾[มาเลเซีย]
สื่อมาเลเซียรายงานถึงการให้สัมภาษณ์ของอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียนคนปัจจุบันต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุม Asean Semiconductor Summit 2025 ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568
อันวาร์ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในวันดังกล่าวอันวาร์ได้ส่งข้อความเพื่อพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของสองประเทศ ทั้งภูมิธรรม เวชยชัย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีไทย และฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
โดยระบุว่า “อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราคาดหวังได้ คือการที่ทั้งสองฝ่ายจะยุติปฏิบัติการ และหวังว่าจะเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพราะสันติภาพคือทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้”
ต่อมาในเวลาประมาณ 21.30 น. อันวาร์ได้ระบุความคืบหน้าในการพูดทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศผ่านเฟซบุ๊กว่า “ในการพูดคุยครั้งนี้ ในนามของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2025 ผมได้ร้องขอโดยตรงต่อผู้นำทั้งสองให้มีการหยุดยิงโดยทันที เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง และเปิดพื้นที่สำหรับการเจรจาโดยสันติและการแก้ไขปัญหาทางการทูต
“ผมมีความยินดีต่อสัญญาณเชิงบวกและความเต็มใจของทั้งกรุงเทพฯ และพนมเปญ ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการเดินหน้าไปสู่แนวทางนี้ มาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าวด้วยจิตวิญญาณและความรับผิดชอบร่วมกันของอาเซียน
“ผมเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าจุดแข็งของอาเซียนอยู่ที่ความเป็นหนึ่งเดียว และสันติภาพต้องเป็นทางเลือกที่เราทุกคนยึดมั่นร่วมกันเสมอ”
🇫🇷[ฝรั่งเศส]
สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้เผยแพร่ ‘แถลงการณ์กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส เกี่ยวกับเหตุปะทะบริเวณชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทย’ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568
โดยรุะบุว่า “ฝรั่งเศสขอแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุปะทะบริเวณชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต
“ฝรั่งเศสขอเรียกร้องให้กัมพูชาและไทยยุติการปะทะโดยทันที และยึดหลักสันติวิธีในการแก้ไขข้อพิพาทตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
“ทั้งนี้ ฝรั่งเศสขอแนะนำให้พลเมืองฝรั่งเศสหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ชายแดนดังกล่าว สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว ขอให้เดินทางออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด และสามารถแจ้งข้อมูลติดต่อของตนต่อสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้”
🇯🇵[ญี่ปุ่น]
กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้เผยแพร่แถลงการณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิวายะ ทาเคชิ (Iwaya Takeshi) ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568
โดยรุะบุว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นขอแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการปะทะทางทหารที่เกิดขึ้นระหว่างกัมพูชาและไทยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม
“หลังจากการปะทะทางทหารเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศยังคงดำเนินต่อไป รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าข้ามพรมแดน ญี่ปุ่นได้พยายามส่งเสริมให้ทั้งสองประเทศลดความตึงเครียดลง
“ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัมพูชาและไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทั้งกัมพูชาและไทยใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความตึงเครียดระหว่างสองประเทศจะคลี่คลายลงอย่างสันติผ่านการเจรจา”