'พิชัย'เพิ่มข้อเสนอเจรจาภาษีสหรัฐเปิดตลาด 0% บางรายสินค้า
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม “The Art of (Re) Deal” จัดโดย ”กรุงเทพธุรกิจ“ ว่าในเรื่องของการเจรจาภาษีกับสหรัฐนั้นใช้เวลาในการเจรจามามากว่า 100 วันแล้ว และจะครบเส้นตายอีกครั้งในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ที่ผ่านมายังมีความไม่ชัดเจน และไม่มีความแน่นอน และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ สิ่งที่เราเห็นได้ในช่วงที่ผ่านมาคือความพยายามของสหรัฐในการลดการขาดดุลการค้า โดยต้องการเพิ่มการเปิดตลาดเพื่อให้สินค้าสหรัฐเข้าสู่ตลาดต่างๆมากขึ้น (Market Access) ที่ต้องมีการตกลงกัน ในเรื่องของการเปิดตลาด และต้องมีการคุยเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ทุกขั้นตอน โดยในการหารือในครั้งนี้ยอมรับว่าสหรัฐใช้การเจรจาที่เป็นข้อเสนอฝ่ายเดียว ที่ไม่เหมือนกับการเจรจาข้อตกลงเสรีทางการค้า (FTA) และสหรัฐเสนอว่าจะต้องการสิ่งต่างซึ่งไม่เหมือนกับการเจรจาที่ผ่านมาที่เป็นการเจราที่ฟังข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย
“ถ้าเราตกลงไม่ได้จะเจอกำแพงภาษีอย่างแน่นอน และมีข้อเสนออื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี และไม่ใช่ NTB ธรรมดาๆ แต่มีข้อเสนอจากสหรัฐเข้ามา ไทยเราต้องถามตัวเองว่าเรามีศักยภาพอแค่ไหน เพราะตอนนี้เราพึ่งพาการส่งออกมาก และเราส่งออกไปสหรัฐถึง 18% เราต้องมีการเจรจา ในเรื่องของหลักการสถานการณ์คือต้องเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี และต้องดูเงื่อนไข ว่าอะไรจะกระทบกับประเทศที่ 3 และประเทศคู่ค้าอื่นๆ เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ต้องดูว่ามีการเจรจาที่ไม่เป็นการชักศึกเข้าบ้าน”
นอกจากนี้ ในการเจรจาภาษีกับสหรัฐอยู่บนหลักการที่ทีมเจรจายึดอยู่ ดังนี้
1.ไทยเราต้องเปิดตลาดให้กว้างขึ้น ในสินค้าที่สหรัฐอยากขาย และเราอยากซื้อ แต่ไทยเราต้องดูเรื่องของการเปิดตลาดที่ไม่กระทบกับการทำ FTA ของประเทศต่างๆที่ทำกับไทย โดยการเสนอให้สหรัฐนำสินค้าเข้ามาในระดับ 0% ที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องนำเข้า หรือของที่ผลิตในไทยแล้วไม่เพียงพอ โดยการป้องกันภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะในภาคเกษตรนั้นยังมีอยู่
“ข้อเสนอใหม่ที่ไทยเราส่งไปให้พิจารณาโดยเราเปิดตลาดให้สหรัฐแล้ว 63-64% และเพิ่มเป็น 69% เรามีการเปิดตลาดสินค้าบางอย่างที่เราไม่เคยเปิด เราก็ต้องเปิดมากขึ้น เช่น ลำไย ปลานิล ตามที่เขาขอไว้ ส่วนตลาดยานยนต์ เรากำลังคิด เดิมเราผลิตเยอะก็จะไม่ได้เปิดให้ แต่ถ้าเราเปิดให้ คิดว่าถ้าเปิดเขาก็คงเข้ามาไม่ได้ง่าย เช่น รถพวงมาลัยซ้าย เขามีตลาดอื่นทั่วโลกคงไม่ได้เข้ามาขายที่เรามาก” นายพิชัย กล่าว
2.ส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจไทยในสหรัฐมากขึ้น เพราะสหรัฐต้องการส่งออกมากขึ้น และทำฐานผลิตในประเทศสหรัฐให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เช่น การลงทุนเรื่องเกษตรแปรรูป เรื่องของสินค้าที่เราต้องซื้อจากสหรัฐ โดยไทยเราดูในเรื่องของพลังงานมากขึ้น โดยปัจจุบันสหรัฐมีปริมาณสำรองเรื่องของพลังงานค่อนข้างมากทำให้ราคาพลังงานมีราคาต่ำ เช่น ก๊าซธรรมชาติขายอยู่แค่ 2-3 ดอลล่าร์ต่อล้านBTU ถูกกว่าราคาตลาดที่ 10-11 ดอลล่าร์
3.การให้ความสำคัญกับการป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยข้อเสนอของสหรัฐนั้นจะให้มีการเพิ่มการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local content) เป็นโจทย์ที่เราต้องดูว่าสหรัฐจะกำหนดในสัดส่วนเท่าไหร่ โดยอาจจะเพิ่มจาก 40% ในปัจจุบัน อาจเพิ่มเป็น 60-70% ที่เป็นต้นทุนที่จะใช้ Local content จากประเทศไทย และประเทศต่างๆที่สหรัฐกำหนดมากขึ้น เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์
ซึ่งตัวอย่างที่เห็นคือ สินค้าจากเวียดนาม ที่ใช้ Local Content น้อยมาก ซึ่งหมายความว่าเป็นสินค้าที่มีการสวมสิทธิ์มากจึงเจอภาษีของสินค้าที่ผ่านมาทางสูงถึง 40% ในขณะที่ไทยมีการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในการผลิต และทำให้ซัพพลายเชนที่เป็น Local Content สูงขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปเรียนรู้การผลิต เป็นโอกาสในการพัฒนาการผลิตในประเทศด้วย
“ข้อเสนอที่เสนอไปแล้วจะมีผลผูกพันระยะยาว และจะต้องเสนอเรื่อง Win Win แม้ว่าผู้ที่เราเสนอ จะอยาก Win อย่างเดียวแต่เราต้องดูในระยะยาวที่ผูกพัน เราไปในอนาคตด้วย” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัยกล่าวต่อว่าในการเยียวยาผู้ประกอบการ ที่ต้องเจาะไปถึง SMEs และภาคเกษตร โดยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียมซอฟท์โลนไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือทั้งการลงทุน ช่วยการจ้างงาน การบริหารสินค้าคงคลัง และมาตรการอื่นๆของสถาบันการเงิน มาตรการเยียวยาต่างๆก็มีการเตรียมการมาระยะหนึ่งแล้วโดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้จากระดับปกติที่ดอกเบี้ย 2% ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมจากมาตรการที่วางไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง