3.4 ล้านหายกลางห้างปมซื้อคริปโตนอกกระดาน รู้จัก OTC ซื้อขายตรง ไม่มีตัวกลาง ทำได้เงียบ ๆ แต่เสี่ยง
จากเหตุอุกอาจที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่มีกลุ่มคนร้ายบุกปล้นเงินสดกว่า 3.4 ล้านบาท ณ ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านลาดพร้าว โดยพบว่าทางผู้เสียหายได้มีการนัดหมายกับกลุ่มคนร้ายผ่าน Agent เพื่อที่จะทำการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี สกุล USDT ก่อนที่คนร้ายลงมือจี้ปล้นเอาเงินสดไปและหลบหนีไป
โดยเงินสดจำนวนดังกล่าว ทางผู้เสียหายเล่าว่ามีการนัดแนะเพื่อที่จะเอามาซื้อขาย USDT จำนวน 100,000 เหรียญ จึงได้ทำข้อตกลงผ่าน Agent ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้นัดมาเพื่อซื้อขายในลักษณะนี้ ทางตำรวจคาดว่าในครั้งแรก ๆ คือการหลอกให้เหยื่อตายใจ โดยจำนวนเงินที่แลกเปลี่ยนกันก่อนหน้านี้เป็นหลักแสน ก่อนที่จะทำการโจรกรรมเงินหลักล้านในครั้งนี้
สำหรับการซื้อขายที่เกิดขึ้นนี้ เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบ “OTC” หรือ “Over-the-Counter Trading” หรือ “การซื้อขายนอกกระดาน” คือมีการตกลงกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เทรดได้ในปริมาณมาก อีกทั้งยังทำได้แบบลับ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ต้องผ่านตัวกลางที่เป็น Exchange ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ ธุรกิจ หรือแม้แต่นักเทรดทั่วไปที่ต้องการความยืดหยุ่นและความเป็นส่วนตัวมากขึ้นก็มักจะใช้เครื่องมือชนิดนี้
OTC Trading คืออะไร?
การเทรดคริปโตฯ แบบ OTC หรือ Over-the-Counter คือการซื้อขายเหรียญโดยตรงระหว่างสองฝ่าย โดยไม่ผ่านกระดานสาธารณะของ Exchange แบบเดิม ธุรกรรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นผ่านตัวกลางที่เรียกว่า OTC Desk หรือโบรกเกอร์ หรือแม้แต่แพลตฟอร์มแบบ P2P ที่มีความน่าเชื่อถือ
แล้วทำไมต้องเทรดแบบ OTC?
เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความผันผวนของราคา โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องซื้อขายเหรียญในปริมาณมาก การตกลงราคากันแบบตัวต่อตัวทำให้สามารถคุมราคาที่ต้องการได้ดีกว่า ลดโอกาส Slippage และไม่ทำให้ตลาดสวิงเหมือนการเทรดผ่าน CEX (Centralized Exchange)
นอกจากนี้ OTC ยังมอบความยืดหยุ่นในการชำระเงิน ไม่ว่าจะโอนผ่านธนาคาร ใช้ Stablecoin หรือ Swap Token ตรงก็สามารถทำได้ตามที่ตกลงกันไว้
OTC Trading ทำงานอย่างไร?
การเทรด OTC แตกต่างจากการซื้อขายในตลาดทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด โดยมีขั้นตอนที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ดังนี้
- Step 1: เริ่มต้นเทรดกับ OTC Desk หรือโบรกเกอร์ โดยนักเทรดที่ต้องการเทรดในปริมาณมากจะติดต่อ OTC Desk ที่มีเครือข่ายผู้ซื้อ-ผู้ขาย พร้อมสภาพคล่องในระดับลึก ทั้งนี้ มักจะมีขั้นตอนการยืนยันตัวตน (KYC) และตรวจสอบการฟอกเงิน (AML) เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบและป้องกันการฉ้อโกง
- Step 2: เจรจาราคา ซึ่งจะมีความแตกต่างจาก Exchange ที่ราคาขึ้นลงตามตลาด แต่ OTC จะเป็นการเจรจาระหว่างคู่ค้าโดยตรง สามารถตกลงราคากันได้ตามความเหมาะสม เพื่อลด Slippage และให้ราคายุติธรรมที่สุด บางกรณีอาจใช้ Smart Contract เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น
- Step 3: ชำระธุรกรรม เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงราคากันแล้ว การโอนเหรียญและชำระเงินจะเกิดขึ้นทันทีหรือภายในช่วงเวลาที่กำหนด โดยสามารถเลือกชำระเป็นคริปโตฯ หรือเงิน Fiat ตามตกลง
ทั้งนี้ หลังการเทรดบาง OTC Desk จะให้บริการรายงานธุรกรรมเพื่อบันทึกหรือใช้อ้างอิง หรือมีการใช้ระบบ Escrow (ระบบถือครองสินทรัพย์ชั่วคราว) เพื่อความปลอดภัย โดยจะปล่อยเหรียญออกก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วน
ประเภทของ OTC Trading
OTC Trading ไม่ได้มีรูปแบบเดียว โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
- OTC ผ่านโบรกเกอร์
โบรกเกอร์จะทำหน้าที่เป็นคนกลาง ช่วยจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขาย พร้อมเจรจาราคา จัดการเอกสาร และเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาด โดยมีตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ให้บริการนี้ อย่างเช่น Coinbase Prime, Kraken OTC, Binance OTC, Bitstamp เป็นต้น
- OTC แบบ P2P (Peer-to-Peer)
ผู้ซื้อและผู้ขายเจรจาโดยตรง ไม่มีคนกลาง มักใช้งานร่วมกับระบบ Escrow เพื่อความปลอดภัย เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและยืดหยุ่นด้านการชำระเงิน ตัวอย่างแพลตฟอร์ม เช่น OKX, Paxful, Binance P2P, KuCoin เป็นต้น
ข้อดี-ข้อเสียของ OTC Trading
สำหรับการเทรดด้วยวิธี OTC Trading ที่มีทั้งข้อดีและความเสี่ยงที่ทางผู้เทรดจะต้องศึกษาให้แน่ชัด โดยข้อดีมีดังนี้
- มีความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ต้องเปิดเผยธุรกรรมบนบล็อกเชนสาธารณะ
- ป้องกัน Slippage ลดความเสี่ยงที่ราคาจะเบี่ยงเบนในช่วงเทรด
- สภาพคล่องสูง เหมาะกับการเทรดปริมาณมากโดยไม่กระทบตลาด
- มีบริการแบบปรับแต่งได้ มีทีมงานดูแลเฉพาะ ตอบโจทย์ความต้องการระดับสูง
ในขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงหลายประการ ได้แก่
- Counterparty Risk คือ ความเสี่ยงที่อีกฝ่ายจะไม่ทำตามข้อตกลง แนะนำให้เลือกใช้ Desk ที่ได้รับการควบคุม หรือมี Escrow
- ข้อกำหนดด้านกฎหมาย แต่ละประเทศมีกฎที่ต่างกัน เช่น KYC, AML ต้องตรวจสอบก่อนทำธุรกรรม
- อาจเป็นช่องทางโกง ตลาด OTC อาจถูกใช้โดยมิจฉาชีพ แนะนำให้ตรวจสอบประวัติและใช้แพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้เท่านั้น
- การปั่นราคา บางรายใช้ OTC เพื่อเทขายเหรียญโดยไม่กระทบราคาในตลาดหลัก
โปร่งใสน้อย เนื่องจากการเทรดไม่เปิดเผย อาจเกิดปัญหาในการหาข้อมูลราคาตลาดที่แท้จริง
ที่มา: CoinTelegraph, Crypto.com, MoonPay, Merkle
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath