ทำอะไรบ้าง ? เปิดผลงานชิ้นโบว์แดง สำนักพุทธฯ | ข่าวเย็นประเด็นร้อน
4 ดูข่าวเย็นประเด็นร้อน - สำนักพุทธฯ องค์กรอิสระภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 ทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย งบประมาณเพื่ออุดหนุนและเผยแพร่ศาสนาที่ได้รับในปี 2568 ประเมินไว้ประมาณ 5.46 พันล้านบาท หลายปีที่ผ่านมา สำนักพุทธฯ ทำอะไรบ้าง มาสรุปผลงานชิ้นโบว์แดงหลายต่อหลายเรื่องให้ได้ทราบกัน เปิดผลงานชิ้นโบว์แดงสำนักพุทธฯ ย้อนกลับไปในปี 2558 ภาพยนตร์เรื่อง อาบัติ ได้ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ แบน ในประเทศไทย โดยครั้งนั้นมี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เข้าร่วมพิจารณา โดยที่ประชุมสรุปว่า เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์และสามเณร มีการนำเสนอพฤติกรรมทางลบ ต่อมาในปี 2563 สั่งแก้ไขศิลปะฝาผนัง ส้มหยุด ซึ่งเป็นภาพวาดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวลี ส้มหยุด ของสิตางศุ์ บัวทอง เน็ตไอดอลชื่อดัง โดยภาพนี้ถูกวาดอยู่ในโบสถ์วัดหนองเต่า จังหวัดอุทัยธานี สำนักพุทธฯ ได้ให้คำแนะนำว่า ภาพวาดของสิตางศุ์ที่ชี้ส้มอาจจะไม่เหมาะสมกับบริบทของพุทธประวัติที่ปรากฏในโบสถ์ จึงขอให้ศิลปินแก้ไขภาพ โดยเปลี่ยนจากท่าทางชี้ส้ม เป็นการยกมือไหว้แทน อีกเรื่องเมื่อปี 2564 สำนักพุทธฯ ออกหนังสือแจ้งเตือนร้านขนมไทยแห่งหนึ่ง ใน จะงหวัดสมุทรสงคราม ที่ผลิตและจำหน่ายขนมอาลัวในรูปทรงพระเครื่องหลายแบบ หลายสีสัน ผ่านออนไลน์ ว่าการทำขนมในรูปพระเครื่องถือว่าไม่เหมาะสม เพราะพระเครื่องเป็นวัตถุมงคล เป็นเครื่องสักการะบูชา ไม่ควรนำมาทำเป็นขนมหรือสิ่งของที่ใช้กินได้ ประเด็นนี้จึงกลายเป็นข้อถกเถียงในเรื่องความเหมาะสมกับความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเรายังจำภาพเหล่านี้ได้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีภาพ AI พระสงฆ์แข่งจักรยานยนต์ จัดงานคอนเสิร์ต นั่งร้องคาราโอเกะ เรื่องนี้เป็นข่าวครึกโครม เมื่อสำนักพุทธฯ ออกมาร้อง ตำรวจไซเบอร์ เอาผิดเพจเฟซบุ๊กใช้ AI สร้างภาพ พระ ในกริยาต่าง ๆ จนเกิดความเสื่อมเสีย สร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชน และเมื่อปีที่แล้ว ข่าวที่สะเทือนใจแฟนอาร์ททอย พวงกุญแจที่เจ้าอาวาสต้องเหลียวมอง รายได้ดีแต่ชาวพุทธไม่สบายใจที่อาจจะต้องร้อง ห๊ะ ! ก็คือ รอง ผอ.สำนักพุทธฯ ได้ออกมาเตือนและขอความร่วมมือแม่ค้าหยุดขายพวงกุญแจคล้ายเศียรพระพุทธเจ้า เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นำมาห้อยกระเป๋า หรือพวงกุญแจ ไม่เหมาะสม อีกหนึ่งเรื่องสด ๆ ร้อน ๆ ที่ต้องดูว่าสำนักพุทธฯ จะว่าอย่างไร กับ นกหวีดพารอด ไอเดียที่นำความเชื่อมาใส่ฟังก์ชัน กุศโลบายการห้อยพระเครื่องอย่างยั่งยืนและทันสมัย เจ้าของแบรนด์บอกว่า นกหวีดพารอดนี้ผ่านพิธีปลุกเสกตามขนบประเพณีจากวัดที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แรงบันดาลใจจาก พระรอด หนึ่งในสุดยอดเบญจภาคีที่มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาดปลอดภัย สำนักพุทธฯ ต้องดูแลวัดทั่วประเทศมากกว่า 43,000 วัด ล่าสุด มีการแจ้งเบาะแสและร้องเรียนพฤติกรรมพระผู้ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากตำรวจ CIB เปิด ศูนย์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาฯ เพื่อรับแจ้งเหตุทั่วประเทศ สำนักพุทธฯ กำลังเผชิญแรงกดดันจากสังคม ทั้งในแง่ของการจัดการวัดจำนวนมาก และปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระบางรูป ท่ามกลางคำถามสำคัญว่า บทบาทขององค์กรนี้ยังตอบโจทย์การทำนุบำรุง ส่งเสริม และคุ้มครองพระพุทธศาสนา อย่างแท้จริงหรือไม่ ? ศานิตย์ บี้ สำนักพุทธฯ ต้องทำงานเชิงรุก เรื่องนี้ คุณกาย สวิตต์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร อดีตประธานกรรมาธิการศาสนา วุฒิสภา ถึงบทบาทของสำนักพุทธฯ ที่ต้องทำงานเพื่อสนองงานพระพุทธศาสนา เอาใจใส่ ดูแลพระสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนา โดย พลตำรวจโท ศานิตย์ บอกว่า ปัญหาเกี่ยวกับพระ ทำให้ไม่ค่อยมีคนเอาใจใส่เท่าที่ควร ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์พระประพฤติตนไม่เหมาะสม ตำรวจในท้องที่อ้างว่า สำนักพุทธฯ ไม่แจ้งความ ไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้ง ๆ ที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน รัฐเป็นผู้เสียหาย สามารถดำเนินคดีได้เลย และข้อสำคัญ สำนักพุทธฯ ควรเป็นเจ้าภาพ เอาผิดพระที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม นอกจากนี้ แนะนำให้กำหนดนโยบายทุกที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล ให้ออกคำสั่งสำนักพุทธฯ จังหวัด ให้มีอาสาสมัครสำนักพุทธศาสนาประจำหมู่บ้าน หรือชุมชน เพื่อให้มีหน้าที่สอดส่องดูแล ร่วมด้วยช่วยกันทำนุบำรุงศาสนา กดติดตามช่อง CH7HD News ได้ที่ : https://cutt.ly/YTch7hdnews ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : https://news.ch7.com #ข่าวเย็นประเด็นร้อน #ข่าวช่อง7 #CH7HDNEWS ติดตาม CH7HD News และ TERO Digital ได้ที่ : https://linktr.ee/ch7hdnews_tero
เล่นอัตโนมัติ