โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

วิ่งออกจากอ่างความโกลาหล "นักวิชาการ มธ." ชวนมองเกมยาว อะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังความคิด "ทรัมป์"

สยามรัฐ

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

มากไปกว่าการต่อรองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเปิดเจรจาภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ยังแฝงด้วยวัตถุประสงค์และความคาดหวังทางการเมือง เราจึงอยากชวนทุกท่านวิ่งออกจากอ่างความโกลาหลเรื่องตัวเลข แล้วมองเกมยาว

อะไรคือแรงจูงใจของ “ทรัมป์” ที่ต้องการเร่งปิดดีลเจรจา และอะไรที่อยู่เบื้องหลังการประกาศใช้ยาแรงกับประเทศคู่ค้าที่เหลืออยู่รวมถึงประเทศไทย และกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) อีกด้วย

ชวนมาตีแผ่ความคิดของทรัมป์ ผ่านมุมมองของ ดร.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการตอบคำถาม ความเชื่อมโยงระหว่างท่าทีของทรัมป์ กับการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นช่วงเดือน พ.ย. ทั้งในรัฐนิวเจอร์ซีย์และเวอร์จิเนียซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต ตลอดจนการเลือกตั้งในระดับรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ซึ่ง “ดร.ปองขวัญ”วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์เหล่านี้ไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ทรัมป์เร่งปิดดีลทางการค้าในช่วงเวลานี้

ดร.ปองขวัญ อธิบายว่า แม้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในนิวเจอร์ซีย์และเวอร์จิเนีย รวมถึงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองใหญ่ เช่น นิวยอร์ก บอสตัน และพิตต์สเบิร์กในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ผลักดันให้ทรัมป์เร่งปิดดีลทางการค้าในช่วงเวลานี้ เพราะโดยทั่วไป การเลือกตั้งระดับรัฐและท้องถิ่นไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเมืองระดับชาติ อีกทั้งรัฐที่จัดการเลือกตั้งในรอบนี้ เช่น นิวเจอร์ซีย์และเวอร์จิเนีย ล้วนเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต ไม่ใช่รัฐเป้าหมายของทรัมป์หรือพรรครีพับลิกัน จึงไม่ใช่สนามแข่งขันที่มีเดิมพันสูงพอจะกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายเฉพาะกิจ อีกทั้งการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็ไม่ได้ส่งผลต่อดุลอำนาจในสภาคองเกรสโดยตรง จึงไม่เกี่ยวข้องกับการผ่านกฎหมายหรือวาระหลักของทรัมป์ในขณะนี้

ทว่าในทางกลับกัน การเร่งเจรจาข้อตกลงกับต่างประเทศ รวมถึงการใช้วาทกรรม America First และแรงกดดันต่อพันธมิตร อาจสะท้อนความพยายามของทรัมป์ในการสร้าง “ชัยชนะเชิงสัญลักษณ์” เพื่อตอกย้ำภาพผู้นำที่แข็งแกร่ง ก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2026 ซึ่งจะส่งผลต่อสมดุลในสภาคองเกรสมากกว่า

จากการสรุปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พบว่ามี 8 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถลดอัตราภาษีได้มากกว่า 3% ได้แก่ ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา ศรีลังกา อิรัก บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอลโดวา และตูนิเซีย ขณะที่อีก 4 ประเทศสามารถลดภาษีได้ในระดับเล็กน้อยไม่เกิน 2% คือ บังกลาเทศ เซอร์เบีย คาซัคสถาน และลิเบีย ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถลดกำแพงภาษีได้เลยมีอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย แอลจีเรีย แอฟริกาใต้ และเกาหลีใต้ และยังมีอีก 8 ประเทศที่ไม่เพียงเจรจาไม่สำเร็จ แต่ถูกสหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีขึ้น ได้แก่ บราซิล แคนาดา เม็กซิโก สหภาพยุโรป บรูไน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

เมื่อพิจารณารายชื่อเหล่านี้โดยรวม อาจไม่พบรูปแบบที่ชัดเจนในทันทีว่าเหตุใดบางประเทศจึงเจรจาสำเร็จ ขณะที่บางประเทศไม่สามารถปิดดีลได้ แต่หากวิเคราะห์เบื้องต้นจะเห็นว่า ประเทศที่เจรจาไม่สำเร็จส่วนใหญ่มักเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบราซิล ซึ่งต่างจากประเทศกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการเจรจา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศขนาดเล็กหรือมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ซับซ้อนกับสหรัฐฯ

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีน้ำหนักคือความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์กับจีน โดยเฉพาะในมิติของห่วงโซ่อุปทาน สหรัฐฯ มีความกังวลต่อประเทศที่อาจถูกใช้เป็นช่องทางสวมสิทธิสินค้าจีน หรือเป็นจุดเชื่อมสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่กำลังอยู่ในศูนย์กลางของการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ประเทศอย่างไทย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ล้วนมีฐานการผลิตหรือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก จึงอาจถูกสหรัฐฯ ประเมินว่า “ยังไม่สามารถให้สิทธิพิเศษทางภาษีได้” หากยังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะอยู่ฝั่งใดในสมรภูมินี้

ขณะเดียวกัน ประเทศอย่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ที่มีสถานะเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคง ก็กลับไม่สามารถปิดดีลภาษีได้เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า ในหลายกรณี ผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยี อาจมีน้ำหนักมากกว่าความสัมพันธ์ทางการทูตในเชิงสัญลักษณ์

น่าสนใจว่า การดำเนินการด้วยท่าทีที่หนักแน่นเพื่อตอกย้ำ America First จะสร้างคะแนนความนิยมให้กับ “ทรัมป์” เพิ่มขึ้นหรือไม่ ตลอดจนภาพรวมความพึงพอใจของคนสหรัฐฯ ต่อนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างไร ดร.ปองขวัญ มองว่า คะแนนความไม่พึงพอใจต่อผลงานของทรัมป์ในปัจจุบันยังคงสูงกว่าคะแนนความพึงพอใจ โดยผลสำรวจล่าสุดจากหลายสำนักชี้ว่า คะแนนนิยมของทรัมป์อยู่ที่ประมาณ 40-43% ซึ่งต่ำกว่าช่วงเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ที่อยู่ประมาณ 48-53%

อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมที่ลดลงในระยะหลัง ไม่ได้มาจากนโยบายภาษีโดยตรง แต่สะท้อนความผิดหวังของประชาชนต่อผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพที่ยังไม่ลดลงตามคำสัญญา และการผ่านกฎหมาย Big Beautiful Bill ซึ่งมีการตัดลดงบประมาณของโปรแกรม Medicaid ที่ให้ประกันสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ รวมถึงการตัดความช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเริ่มตั้งคำถามต่อแนวทางเศรษฐกิจของทรัมป์

อีกหนึ่งประเด็นที่สร้างแรงเสียดทานในหมู่ฐานเสียงของเขาเองคือ นโยบายการกวาดล้างผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งเริ่มส่งผลต่อทัศนคติของชาว Latinx บางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสมาชิกในครอบครัวหรือชุมชนใกล้ชิดกับแรงงานอพยพเหล่านี้ แม้ทรัมป์จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงดั้งเดิม แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณการถดถอยในบางกลุ่มที่เคยหันไปลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เช่น กลุ่มคนผิวดำและกลุ่มชนชั้นกลาง

ชวนนักวิชาการธรรมศาสตร์ท่านนี้หันกลับมามองที่ “ทีมไทยแลนด์” คำถามคือเราสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์อะไรจากข้อมูลเหล่านี้ได้บ้าง ดร.ปองขวัญ ให้ความเห็นว่า โดยรวมแล้วทีมไทยแลนด์มีความเข้าใจต่อปัจจัยทางการเมืองภายในของสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือข้อเสนอที่เปิดโอกาสให้นำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์จากสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งตรงกับฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกันและโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะในรัฐที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ลึกลงไปปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเจรจาต่อรองเรื่องภาษีกับทรัมป์อาจไม่ใช่ประเด็นทวิภาคีระหว่างไทย–สหรัฐฯ แต่คือท่าทีของไทยต่อจีน โดยเฉพาะการควบคุมการสวมสิทธิ์ของสินค้าจีนและการแสดงจุดยืนในประเด็นห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งในข้อแรกนั้นทีมไทยแลนด์ได้พยายามหยิบยกในเวทีเจรจาแล้ว
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ ลักษณะของ“ชัยชนะที่จับต้องได้” ที่ทรัมป์ต้องการ ประเทศคู่ค้าจึงอาจถูกกดดันให้เสนอการลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในรูปแบบตัวเลขที่ชัดเจนมากกว่าการลดมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี(NTBs) ซึ่งทรัมป์อาจมองว่าสื่อสารกับสาธารณชนได้ยากและไม่นับเป็น “ชัยชนะทางการเมือง” เท่ากับการลดภาษีแบบเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังเช่นกรณีเวียดนามที่ลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ซึ่งถูกใช้เป็นกรณีตัวอย่าง

อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มการเจรจาในยุคทรัมป์ต้องการ “ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม-มีตัวเลขชัดเจน” มากกว่ากระบวนการค่อยเป็นค่อยไป ไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดันในการปรับโครงสร้างนโยบายที่มีผลต่อผู้ผลิตในประเทศ และไม่ใช่ทุกข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่จะสอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติของไทยโดยตรง ทีมไทยแลนด์จึงอาจต้องเตรียมพร้อมสำหรับการต่อรองที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก สยามรัฐ

ศาลออกหมายจับ ลูก"ก๊กอาน"

57 นาทีที่แล้ว

ลั่นล้างบาง"ภท."ระวังโดนก่อน

57 นาทีที่แล้ว

"บิ๊กเล็ก"โต้"ฮุนเซน"ปัดข่าวสร้างรั้ว"ปราสาทตาเมือน"

57 นาทีที่แล้ว

เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงยอมสึกแล้ว! ออกหมายจับสีกากอล์ฟ3ข้อหาหนัก

57 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ลั่นล้างบาง"ภท."ระวังโดนก่อน

สยามรัฐ

"บิ๊กเล็ก"โต้"ฮุนเซน"ปัดข่าวสร้างรั้ว"ปราสาทตาเมือน"

สยามรัฐ

‘เท้ง ณัฐพงษ์’ เสนอสูตรโหวตนิรโทษฯ รับร่างตัวเอง–งดออกเสียงร่างอื่น เปิดทางทุกฉบับเข้าสู่วาระ 2

เดลินิวส์

"ชาดา"ปธ.กรรมการสอบ 3 สส.ภูมิใจไทย โหวตสวนมติพรรคฯ

ข่าวเวิร์คพอยท์ 23
วิดีโอ

ภูมิใจไทย ตั้ง ‘ชาดา‘ นั่ง ประธาน คกก.สอบ 3 สส.โหวตสวนมติพรรค

THE ROOM 44 CHANNEL

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมต.ยุติธรรม หารือ UNODC ส่งเสริมความร่วมมือต้านยาเสพติดในภูมิภาค

VoiceTV

ข่าวและบทความยอดนิยม