‘ไทยสร้างไทย’ เสนอร่างนิรโทษฯ ม.112 เปิดทางยื่นขอพระราชทานอภัยก่อนคดีถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และนายโภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศของพรรค แถลงข่าวเสนอแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่า มาตรา 112 ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อสอดรับกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครององค์พระประมุขของชาติซึ่งไม่สามารถโต้ตอบหรือชี้แจงได้ในทางคดี เมื่อถูกละเมิดด้วยการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น
อย่างไรก็ตาม พรรคฯ เห็นว่าในทางปฏิบัติ ที่ผ่านมาบางกรณี กฎหมายนี้อาจถูกนำไปใช้เพื่อกลั่นแกล้งหรือดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น จึงเสนอ 2 แนวทางหลักในการแก้ปัญหาคดี ม.112 ควบคู่กัน ดังนี้
1. แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้จัดตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรอง” คดีมาตรา 112 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา เช่น ตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง นักวิชาการ ร่วมพิจารณาว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกลั่นแกล้งทางคดี
นอกจากนี้ พรรคฯยังเสนอให้บัญญัติกฎหมายรองรับการที่องค์พระมหากษัตริย์สามารถ “พระราชทานอภัย” ต่อผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างการดำเนินคดีได้ ซึ่งถ้าได้รับ “พระราชทานอภัย” ก็ให้ระงับการดำเนินคดีทันที และให้ถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุด ซึ่งต่างจากการขอพระราชทานอภัยโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว
2. เสนอเพิ่มเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 สามารถยื่น “คำขอพระราชทานอภัย” ได้ก่อนที่คดีจะถึงที่สุด พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำซ้ำ เพื่อเป็นกลไกเชิงสันติวิธีในการยุติความขัดแย้ง
ดร.โภคิน กล่าวย้ำว่า “ข้อเสนอของพรรคไทยสร้างไทย เป็นการหาทางออกที่ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมควบคู่กับวัฒนธรรมแห่งการให้อภัยของสังคมไทย”
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวสรุปว่า “ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ ต้องไม่ปล่อยให้ความแตกแยกเรื้อรัง เราเชื่อว่าการให้ ‘อภัย’ จะเป็นสะพานนำสังคมไทยกลับสู่ความสงบสุขและความหวัง”
พร้อมกันนี้พรรคไทยสร้างไทยแถลงการณ์
เรื่อง ทางออกจากปัญหาความเห็นต่างในร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมกรณีความผิดตามมาตรา 112 ระบุว่า
จากแถลงการณ์พรรคไทยสร้างไทย วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่ได้เสนอทางออกสำหรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และคดีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งพรรคฯเห็นโดยสุจริตว่า มาตรา 112 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในหมวดพระมหากษัตริย์บัญญัติขึ้นเพื่อให้สอดรับกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”
บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้เป็นวัฒนธรรมประเพณี เฉกเช่นเดียวกับประมุขของรัฐในต่างประเทศก็ได้รับการคุ้มครองเช่นกัน และโดยข้อเท็จจริงแล้วเมื่อมีการล่วงละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ด้วยการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ฯลฯ ต่อองค์พระประมุขของชาติ พระองค์ก็มิอาจโต้ตอบหรือชี้แจง หรือดำเนินการใด ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์พระประมุขของชาติทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเมตตาต่อพสกนิกรของพระองค์โดยไม่ถือชั้น วรรณะ และศาสนา ยามใดที่บ้านเมืองมีปัญหาขัดแย้ง รุนแรง สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะทรงนำคุณธรรม "อภัย" มาใช้เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย และสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเสมอมา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกในคดีความผิดตามมาตรา 112 จึงควรดำเนินการใน 2 แนวทางไปพร้อม ๆ กัน คือ
1. แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ความผิดตามมาตรา 112 โดยให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองในการดำเนินคดี ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา อาทิ ตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง นักวิชาการ ให้มีความเห็นร่วมกันว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งในการดำเนินคดี
นอกจากนี้ ในระหว่างการดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นกล่าวโทษต่อคณะกรรมการฯ จนถึงระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ควรแก้ไขกฎหมายให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะ "พระราชทานอภัย" สำหรับการกระทำที่กล่าวมาได้ โดยให้เป็นการระงับการดำเนินคดีทันที และให้ถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุด
2. ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากจะกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 ควรดำเนินการดังนี้ คือ
ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายตามมาตรา 112 สามารถทำหนังสือ "ขอพระราชทานอภัย" ต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้ โดยให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำซ้ำอีกในระหว่างการดำเนินคดีก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีนี้เรียกว่า "การขอพระราชทานอภัย" ซึ่งจะต่างจากการขอพระราชทานอภัยโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว
โดยสรุป การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่กล่าวข้างต้น จะเป็นหลักการใหม่ในการดำเนินคดีอาญา เพื่อป้องกันการนำมาตรา 112 ไปกลั่นแกล้งกัน และกระทบกระเทือนถึงองค์พระมหากษัตริย์
ขณะเดียวกันการเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้พระมหากษัตริย์ทรงสามารถ "พระราชทานอภัย" คดีความผิดตามมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นและยังไม่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดได้ด้วย ก็จะช่วยแก้ปัญหาที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าการกระทำจะเกิดจากเจตนาของผู้กระทำ หรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือถูกกลั่นแกล้ง
ท้ายที่สุดนี้ พรรคไทยสร้างไทยใคร่ขอให้สังคมตระหนักร่วมกันว่า การนำ "การให้อภัย" มาใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงมาอย่างยาวนานจะเกิดผลสัมฤทธิ์ และนำความผาสุกมาสู่ปวงชนชาวไทย
พรรคไทยสร้างไทย
15 กรกฎาคม 2568