PLACEBo CLUB แค่ตี ‘ขัน’ กับ ‘กลอง’ ก็พาชีวิตกลับสู่สมดุลได้
หากคุณกำลังเหนื่อยล้า สูญเสียความหวัง ไม่แน่ใจว่าชีวิตต้องเดินไปทางไหน ขอเชิญที่ PLACEBo CLUB คลับเพื่อ “ฮีลลิ่ง” ที่รวมกิจกรรมจากศาสตร์ทางเลือก เช่น การบำบัดด้วยเสียง, นวดกดจุด, การบำบัดพลังงานแบบผสมผสานและโหราศาสตร์เชิงพลังงาน ซึ่งล้วนเป็นศิลปะเยียวยาจิตใจที่อาจเปลี่ยนชีวิตคุณให้กลับมาสดชื่นอีกครั้งได้ !
PLACEBo CLUB อยู่ภายในอาคารเก่าแห่งหนึ่งย่านเจริญกรุง ภายในถูกจัดสรรอย่างเรียบง่ายและอบอุ่น แบ่งเป็นห้องทำงานขนาดย่อมและลานโล่งสำหรับกิจกรรมร่วมกันตามมุมต่าง ๆ ของห้องมีขันระฆังหิมาลัย กลอง เปียโน และเครื่องดนตรีตะวันออกอีกมากมาย เพื่อการฮีลใจโดยเฉพาะ
ทีม SPRiNG ชวนไปคุยกับ วริศ ลิขิตอนุสรณ์ นักบำบัดทางเลือกได้เปลี่ยนดนตรีให้กลายเป็นพื้นที่เยียวยา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PLACEBo CLUB เขาเลือกใช้เสียงขัน เสียงกลอง และเสียงจากเครื่องดนตรีโบราณ เป็นสื่อกลางระหว่าง “ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ” เพื่อปลุกความรู้สึกที่อ่อนล้าให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง
ดนตรีและปรัชญาคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยว
เพราะความเชื่อที่ว่าดนตรีทำให้คนสงบได้ วริสจึงลุกขึ้นมา ทำดนตรีบำบัดแบบทางเลือก ซึ่งก็คือ Alternative Therapy ที่ใช้ดนตรีเป็นตัวกลางในการเยียวยาและบำบัด หรือพูดให้ชัดคือ เขาไม่ได้ใช้ดนตรีเพื่อความบันเทิง แต่เป็นดนตรีเพื่อการภาวนาและตั้งคำถามถึงชีวิต นี่คือสิ่งที่วริสนิยามงานของตัวเอง
วริสเล่าว่า “สมัยเรียน ผมไม่ชอบเรียนเลย รู้สึกว่าสิ่งที่สอนกันในโรงเรียนมันไม่เป็นสาระ ทำไมผมต้องรู้เรื่องเหล่านั้นด้วย รู้แล้วจะได้อะไร มีแต่สอบเสร็จแล้วก็จบๆ ไปเท่านั้น ในหนึ่งวันนั่งฟังครุ 6-7 คนสลับันเข้ามาพูด บอกตรงๆ คือจำอะไรไม่ได้เลย รู้สึกว่าการเรียนมันทำให้ผมว่างเปล่ามาก
“แต่มีสองอย่างที่ผมสนใจ อย่างแรกคือดนตรี มันเริ่มจากดูหนังจีนแล้วเห็นตัวละคร ดีดพิณแสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจ และเมื่อได้ดูสามก๊กตอนขงเบ้งดีดกู่ฉินบนกำแพงเมืองไล่กองทัพศัตรูให้ถอยทัพ แม้ผมรู้ว่าอาจไม่ใช่เรื่องจริง แต่มันก็ทำให้เห็นพลังของเครื่องดนตรีที่มีต่อจิตใจคน ขงเบ้งสามารถหลอกคนด้วยเครื่องดนตรีได้ ผมเลยเริ่มเข้าใจว่าเสียงดนตรีมันมีความหมายและพลังบางอย่างโดยที่ไม่ต้องใช้คำพูดเลยด้วยซ้ำ
“ตั้งแต่นั้นผมก็สนใจดนตรีจีน อยากเรียนอยากฝึกให้คล่อง แต่เพราะค่าเรียนดนตรีจีนมันแพง ที่บ้านเลยส่งงให้เรียนดนตรีไทยไปก่อน ตอนแรกปมก็ไม่ได้ชอบ แต่ยิ่งเรียนก็ยิ่งรักมันไปเรื่อยๆ ช่วงแรกก็ทำไม่ได้ แต่พอทำตามครูก็ทำได้เอง ผมโดดเรียนมาซ้อมเรื่อยๆ รู้สึกชีวิตมีความหมายมากขึ้นใช้ชีวิตแบบโดดเรียนมาซ้อมดนตรีตั้งแต่ ม1.-ม6. ไม่น่าเชื่อว่าทำแบบนี้จนเรียนจบมัธยมมาได้
“ระหว่างนั้น การเล่นดนตรีเป็นชีวิต ทำให้ผมได้เจอคนเก่งๆ มากมายและนำมาสู่สิ่งที่สนใจอย่างที่สองคือปรัชญา เพราะเพราะเดิมทีแล้วผมก็มีคำถามในตัวเองว่า เราเกิดมาทำไม เราอยู่ไปเพื่ออะไร เราเรียนไปเพื่ออะไร ผมเจอครูที่เป็นพระมาสอนปรัชญาตะวันออก ปรากฏว่ามันเข้าถึงข้างในเรามาก เป็นครั้งแรกที่เรื่องที่ผมสงสัยมีคนมาตอบได้ เลยรู้สึกว่าปรัชญามันมีคุณค่ากว่าพวกวิชาการต่างๆ ในห้องเรียนเยอะ แม่ปรัชญามันไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน แต่มันก็พาเราไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมาย
"งานประจำทำให้ผมแตกสลาย"
แม้ไม่ชอบเรียน แต่หลังจบชั้นมัธยม วริสก็เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเหมือนกับคนทั่วไป และพบว่าช่วงเวลานั้น คือยุคมืดของตัวเองโดยต้องทิ้งความสนใจที่มีต่อเรื่องดนตรี เพราะพบว่ามันไม่มีประโยชน์หากเราต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนเรื่องปรัชญาผมก็เข้าเรียนบ้าง แต่พบว่าไม่มีอะไรใหม่ให้เรียนรู้ เพราะตอนมัธยมผมก็ฟังมาหมดแล้ว ก็เลยทำแค่เรียนมหาลัยให้จบๆ ไปแล้วพยายามเข้าสู่ตลาดแรงงาน
“ตอนผมเข้าสู้โลกของการทำงาน ผมเข้าไปอยู่ในบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง ไปเป็นฝ่ายเซลล์ แล้วปรากฏว่าผมต้องไปขายงานให้ลูกค้า โดยที่ผมก็รู้ว่าสิ่งที่ผมเสนอให้เขามันไม่มีอยู่จริง แต่เราโดนบังคับว่าต้องปั้นออกมาให้ลูกค้าเชื่อ ผมทำแบบนี้เป็นปกติ จนรู้สึกว่ามันขัดกับสามัญสำนึกเราที่ต้องทำแบบนี้ แต่ผมก็ทนทำงานให้ไปก่อน แม้จะรู้สึกเหมือนโดนนายจ้างขูดรีดอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
“แต่จุดเปลี่ยน ที่ทำให้ผมหมดความอดทนกับงาน จำได้ว่าไปประชุมที่กระทรวงแห่งหนึ่ง ตอนนั้นมีม๊อบชาวนามาประท้วง จำไม่ได้แล้วว่ามาเรียกร้องอะไร แต่ตอนนั้นผมนั่งขายงานให้นักการเมือง ปรากกฎว่านักการเมืองคนนั้นพอรู้ว่าม็อบมาก็หัวเราะ และพูดว่า ม็อบพวกนี้มาทุกปี เดี๋ยวพอเงินหมดก็กลับ และก็กินราดหน้าแบบสบายใจ
ภาพนั้นทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในหนังที่มีตัวร้าย เลยตระหนักว่าถ้าผมทำงานกับคนแบบนั้นไปเรื่อยๆ ผมก็จะกลายเป็นคนแบบนั้น สุดท้ายก็เลยลาออก เพราะรู้สึกแตกสลายในใจ เหมือนเป็นผู้ใหญ่ที่รับมือกับโลกความจริงไม่ได้ ขอหลบไปอยู่พักใจเงียบๆ ก่อนดีกว่า ต่อให้เงินในบัญชีเหลือ 0 บาท ก็ไม่กังวล ขอแค่เอาตัวเองออกจากสังคมแย่ๆ ก่อนพ่อแล้ว
กลับสู่สติด้วยการตีขัน หวนมาสู่งานฮีลใจ
วริสบอกว่า “ช่วงที่ออกจากงานใหม่ ๆ ได้เปิดร้านต้นไม้กับเพื่อน เพราะช่วงที่เครียดซื้อต้นไม้มาเยอะมาก พอได้อยู่กับต้นไม้ ผมเริ่มกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ได้กลับมาคุยเรื่อง จิตวิญญาณที่ทิ้งไปนาน และคุยกับเพื่อนว่าอยากทำงานฮิลใจ เพราะทั้งผมและเพื่อนอยู่ในช่วงผิดหวังกับโลกความจริงมาก เลยจะหางานที่ทำให้เรากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
“พอตัวตนเราเริ่มกลับมา มันดึงเพื่อนของเรากลับมาด้วย นั่นก็คือดนตรีผมอยากกลับมาเล่นดนตรี แต่คงไม่เล่นดนตรีไทยแล้ว เพราะบริจาคเครื่องเล่นไปหมดแล้ว และผมก็ไม่ได้อยากเล่นเพลงเพื่องานบันเทิง แต่อยากใช้เพลงเพื่อเข้าใจโลก เข้าใจตัวเองมากขึ้น
“ผมก็เลยนึกถึงขัน เพราะสมัยเรียนผมเคยดูวิดีโอที่หลวงปู่เวียดนามรูปดังชื่อ ติช นัท ฮันห์ ที่ตีขันเป็นเสียงตึงยาวๆ เรียกสติคน ผมก็เลยเอาเงินเก็บก้อนสุดท้าย 8,000 บาทไปซื้อขันมาตีบ้าง อยากรู้ว่ามันจะทำงานกับเรายังไงถ้าขันจะกลายเป็นเครื่องดนตรีหลักของเรา
“ผลคือ หลังจากตีและฟังเสียงตึงยาวๆ ตั้งแต่ต้นเสียงไปจนถึงหางเสียงของเขา ที่ดังกังวานประมาณ 3 นาที มันยิ่งใหญ่มากสำหรับคนเป็นซึมเศร้า เพราะมันเป็นเสียงที่ไม่มีตัวโน๊ต ไม่มีเนื้อร้อง แต่เป็นเสียงแห่งความอิสระที่ทำให้เราอยู่กัปัจจุบันได้อย่างเหลือเชื่อ
“ผมชอบเสียงแห่งความว่างแบบนี้ หลังจากนั้นก็ศึกษา ไปต่อกับขันเรื่อยๆ เรียนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และก็นำเราไปสู่เครื่องดนตรีตะวันออกอื่นๆ ที่ใช้ในการเยียวยาจิตใจคล้ายๆ กัน ผมเริ่มรู้สึกชีวิตมาถูกทาง และพากลับสู่โลกแห่งการเยียวยาที่แท้จริง”
ดนตีบำบัด ก็เหมือนการจ่ายยาสมุนไพร
วริศเล่าว่า ผู้ที่เดินเข้ามาใน PLACEBo CLUB ส่วนใหญ่มักเป็นคนวัยทำงาน บางคนหมดไฟ บางคนหลงทางในชีวิต บางคนกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งโรคร้ายอย่างมะเร็ง แม้เขาจะไม่อาจรับประกันได้ว่าเสียงดนตรีหรือกิจกรรมต่าง ๆ จะรักษาอาการเหล่านั้นให้หายขาด แต่สิ่งที่เขาตั้งใจคือการเป็น “แรงพยุงใจเล็ก ๆ” ที่ช่วยให้ผู้คนมีพลังจะลุกขึ้นมายืนหยัด และก้าวเดินต่อไปได้ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งขึ้น
“พื้นที่ของเรามีวิธี เยียวยาด้วยเสียงหลักๆ 3 รูปแบบ แบบแรกคือเราเล่นดนตรีให้เขา วิธีนี้จะคล้ายกับภาพจำของดนตรีบำบัดทั่วไปที่นักดนตรีจะมาเล่นอะไรสักอย่างอยู่ข้างเตียงคนไข้ตามโรงพยาบาล แต่ของเราจะแตกต่างตรงที่เราจะฟังเขาก่อนว่าเป็นอะไรมา มาที่นี่อยากให้ช่วยอะไร หลังจากนั้นถึงวิเคราะห์ว่าเราควรเล่นอะไรถึงจะตอบโจทย์สภาพจิตใจเขา เหมือนการจ่ายยาสมุนไพรและการจัดอาหารสุขภาพให้กับเขา
“บางเสียงทำให้ร่างกายอยากขยับ อยากเต้น อย่างเช่นเสียงกลอง ส่วนบางเสียงก็เหมือนพาใจให้สงบลง เช่นเสียงขันที่ชวนให้อยากพักผ่อน” วริศอธิบาย “เราจะค่อย ๆ บรรเลงเสียงเหล่านี้อย่างนุ่มนวล ให้เขาได้ซึมซับพลังงานดี ๆ เข้าไปในร่างกายทีละนิด… ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องฝืน แค่เปิดใจให้เสียงทำหน้าที่ของมัน”
มากกว่าเล่นดนตรี คือร่างกายได้ขยับ
“วิธีที่สองคือการเล่นดนตรีด้วยกัน” วริศเล่าอย่างอารมณ์ดี “มันเป็นวิธีที่ผมชอบมาก เพราะมันไม่ใช่แค่ให้เขานั่งฟังเฉย ๆ แต่เป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับเสียงอย่างเต็มตัว บางครั้งผมจะให้เขาเลือกเครื่องดนตรีเองตามความรู้สึก แต่บางครั้งผมก็เลือกให้ แล้วเราจะเริ่มเล่นไปด้วยกัน”
วริศเปรียบกิจกรรมนี้เหมือนการเป็นครูโยคะ “เราต้องเคลื่อนไปพร้อมกับเขา ต้องฟัง ต้องสังเกต เพื่อจะเห็นว่าร่างกายเขาตอบสนองอย่างไรในแต่ละจังหวะ” เขาหยุดเล็กน้อยก่อนยิ้มบาง ๆ แล้วเสริมว่า “อย่างถ้ามีใครบางคนรู้สึกว่าชีวิตตัวเองติดอยู่ในความเชื่องช้า เหมือนไม่ขยับไปไหน ผมอาจชวนเขาเล่นดนตรีจังหวะที่เร็วขึ้น ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว ให้เขาเรียนรู้ที่จะ ‘ปลดล็อก’ อะไรบางอย่างด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพราะเราเป็นคนแก้ แต่เพราะเขาเริ่มรู้สึกถึงจังหวะชีวิตของตัวเองอีกครั้ง”
มันไม่ใช่การเล่นดนตรี แต่มันเป็นการชวนเขาขยับ โดยมีเครื่องดนตรีเป็นสื่อกลาง ใช้ตรรกะเดียวกับการเล่นเครื่องออกกำลังกายในฟิตเนสเลย วริศกล่าว
ส่วนวิธีที่ 3 ก็เรียบง่าย วริศจะไม่ได้เล่นดนตรีด้วย แต่จะแนะนำให้เขาไปเล่นดนตรีที่บ้าน ในจังหวะที่เหมาะสม โดยใช้หลักการเยียยวเดียวกับข้างต้นทั้งหมด
เรารู้จักมนุษย์ผ่านเสียงที่พวกเขาทำ
“จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แค่การเล่นดนตรีครับ” วริศพูดพลางยิ้ม “บางครั้งผมยังให้ ‘การบ้าน’ กลับไปด้วย เพื่อให้เขากลับไปสำรวจเสียงในชีวิตประจำวันของตัวเอง อย่างเช่น ถ้ามีใครชอบพูดกับแม่เสียงดัง ผมก็จะบอกให้ลองลดระดับเสียงลงสัก 10% แล้วดูว่าอารมณ์ของตัวเองเปลี่ยนไปยังไงบ้าง แค่ฟังตัวเองให้ชัดขึ้น เราก็อาจค้นพบบางอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนแล้ว”
เขาอธิบายต่อว่า เสียงของคนเรานั้นบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด “บางทีผมยังไม่ต้องถามชื่อด้วยซ้ำ แค่ฟังเขาเดิน หรือฟังวิธีที่เขาพูด เราก็พอจะรู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน” วริศเล่าว่า ความเร็วของฝีเท้า ความดังของเสียงพูด หรือแม้แต่จังหวะหายใจ ล้วนบอกเล่าบางอย่างเกี่ยวกับประวัติชีวิตของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน “เสียงพวกนี้คือดนตรีธรรมชาติของมนุษย์ครับ ผมจะฟังสิ่งเหล่านี้ก่อนเริ่มกระบวนการบำบัด เพราะมันเป็นแผนที่ของอารมณ์ที่ละเอียดมาก”
เมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่ม “ส่งเสียง” ผ่านเครื่องดนตรี วริศบอกว่า ตัวตนของพวกเขาจะยิ่งชัดขึ้น “ถ้ามีคนที่รู้ตัวว่าโกรธ เราจะให้เขาเอาความโกรธนั้นมาตีกลองเลยครับ ไม่ต้องเก็บไว้ในคำพูด หรือถ้าใครกำลังเศร้า เราก็อาจให้เขาเป่าปี่ แล้วฟังว่าเสียงนั้นมันเบา หน่วง หรือสั่นแค่ไหน”
“นี่ไม่ใช่เรื่องของพลังพิเศษอะไรเลยครับ” เขาย้ำ “ผมไม่ได้มีญาณวิเศษ แค่ตั้งใจฟังเฉย ๆ เพราะจริง ๆ แล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการอ่านใจกันผ่านเสียงอยู่แล้ว ถ้าเราฟังกันด้วยใจจริง เราก็จะเข้าใจกันได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพูดอะไรมากเลยด้วยซ้ำ”
มากกว่าเสียงดนตรี คือจัดการเสียงในชีวิตประจำวัน
ทั้งหมดนี้…มันไม่ใช่แค่เรื่องของดนตรีอีกต่อไปแล้วครับ” วริศเล่าอย่างเรียบง่าย แต่แฝงด้วยน้ำหนักของประสบการณ์ “มันคือการบำบัดที่ช่วยให้เรารู้จัก ‘จัดการเสียง’ ในชีวิตประจำวันของตัวเอง ให้เราตระหนักว่าทุกวันเราถูกรายล้อมด้วยเสียงอะไรบ้าง และเราจะ ‘ทำงาน’ กับเสียงเหล่านั้นอย่างไร”
เขาบอกว่า กุญแจสำคัญของกระบวนการนี้คือ การฝึกสติ การกลับมาอยู่กับปัจจุบัน และถามตัวเองให้ชัดว่า “ตอนนี้ชีวิตกำลังเกิดอะไรขึ้น…แล้วเราอยากเป็นส่วนไหนของมันดี?”
“ถ้าถามว่า ถ้าเราจัดการกับเสียงในชีวิตได้แล้ว เราจะทำอะไรได้บ้าง? ผมกล้าตอบเลยว่าทุกอย่าง”
วริศนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนจะยิ้มบาง ๆ แล้วพูดต่อด้วยน้ำเสียงที่เหมือนพูดกับตัวเอง
“พูดตามตรง ตอนนี้ก็ยังแปลกใจตัวเองเหมือนกัน ว่าอยู่มาได้ยังไง” เขาหัวเราะเบา ๆ “แต่เท่าที่นึกออก ผมก็พยุงตัวเองขึ้นมาได้จากเสียงรอบตัว เสียงดนตรี เสียงเพื่อน เสียงธรรมชาติ เสียงการเมือง…และเสียงของตัวเอง พอเรา ‘ได้ยิน’ ทั้งหมดนั้นอย่างมีสติ เราก็เริ่มมองเห็นเส้นทางของชีวิตชัดขึ้น ว่าควรเลือกเดินทางไหน”
ก่อนจบบทสนทนา วริศพูดถึง PLACEBo CLUB ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน
“พื้นที่ตรงนี้อาจไม่ได้การันตีว่าใครจะหายจากโรคที่เขาเป็น” เขายอมรับตรง ๆ “แต่อย่างน้อย…เราขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ในชีวิตของเขา เป็นจุดเล็ก ๆ ที่อาจทำให้เขาเห็นว่า ชีวิตเราไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดิมเสมอไปก็ได้นี่นา ถ้ามันจะช่วยให้ความทุกข์ของเขาเบาบางลงได้บ้าง
"และถ้าเขาต้องออกเดินทาง ผจญภัยในโลกที่วุ่นวายใบนี้ เราก็ขอเป็นเพื่อนผู้ฟังที่ดี แค่นั้นก็พอแล้วครับ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง