นับถอยหลังอนาคต "กัญชา" เตรียมกลับสู่บัญชี "ยาเสพติด"
นโยบายปลดล็อก'กัญชา' จากยาเสพติด ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทยเมื่อปี 2562 ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ได้เปิดทางให้กัญชากลายเป็นพืชทางการแพทย์และเศรษฐกิจที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ หลังจากนั้นรัฐบาลได้ผลักดันให้การใช้กัญชาเพื่อการรักษาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายผ่านการประชุมในสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่เห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ. กัญชง กัญชา (วาระที่ 1 ) แต่การใช้งานในเชิงการค้ายังคงมีข้อบังคับ โดยห้ามจำหน่ายกัญชาให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือสตรีมีครรภ์ โดยต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์
การปลดล็อกกัญชาเมื่อปี 2565 ทำให้กัญชาไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศระบุให้ กัญชา กัญชง และสารสกัดกัญชา (ที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2%) ไม่เป็นยาเสพติด ทำให้กัญชากลายเป็นพืชที่ใช้ได้ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ เช่น การบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดและลดอาการปวดเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากปลดล็อกกัญชา พบว่า การใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงกลับมีมากกว่าการใช้ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเกิดปัญหาการเสพติดในวงกว้าง ทำให้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนหรือยกเลิกนโยบายนี้ ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มผู้สนับสนุนที่มองว่า การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เป็นทางเลือกที่เหมาะสม
ข้อมูลจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า จำนวนผู้เสพติดกัญชาของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2567 ประเทศไทยมีผู้เสพติดกัญชามากเป็นอันดับ 2 รองจากยาบ้า ข้อมูลจากป.ป.ส. ยังพบว่า จำนวนผู้เสพติดกัญชาเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนการปลดล็อกกัญชา และมีรายงานจากศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่พบว่า เยาวชนสูบกัญชาเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า หลังจากการปลดล็อกกัญชา
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนการใช้กัญชา โดยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 มีการเสนอให้กลับไปควบคุมกัญชาให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกครั้ง และจะใช้ พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ… เพื่อติดตามและควบคุมการใช้กัญชาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น
การทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ได้รับความเห็นจากประชาชน โดยผลการรับฟังความคิดเห็นระบุว่า 59% เห็นด้วยกับการให้กัญชากลับมาอยู่ในบัญชียาเสพติด โดยมีกำหนดให้กัญชาและกัญชงที่มีสาร THC เกิน 0.2% กลับมาเป็นยาเสพติดอีกครั้ง
เรื่องของกัญชาถูกนำมาโยงเป็นประเด็นทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่ พรรคภูมิใจไทย ประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 โดยอ้างประเด็นคลิปเสียงสนทนาและประเด็นข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา
23 มิถุนายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ กล่าวถึงเรื่องกัญชาของรัฐบาลโดยเน้นย้ำว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะทำเรื่องกัญชาเพื่อการแพทย์จะเร่งทำเพื่อกำหนดให้ใช้พืชกัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น
เป็นที่มาของการลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2568 ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 11 พ.ย.2565 ที่กำหนดให้ กัญชา เป็นสมุนไพรควบคุมที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัยหรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ผู้ที่จะไปซื้อกัญชาต้องมีใบสั่งหรือใบรับรองแพทย์ และกำหนดให้มีแพทย์ประจำร้านหรือหากมีการตรวจทุกเดือนแล้วพบความผิด 2 ครั้ง จะยึดใบประกาศและใบอนุญาต ส่วนเรื่องของใบอนุญาตผู้ประกอบการรายใหม่ หรือการต่อใบอนุญาตนั้นจะมีการทำกฎกระทรวงขึ้นมาใหม่อีกฉบับ พร้อมฉายภาพว่า "ในอนาคต กัญชา ควรกลับไปเป็นยาเสพติด"
ที่สุดแล้ว การปลดล็อก 'กัญชา' ทำให้เกิดข้อถกเถียงและผลกระทบที่ซับซ้อน และกำลังจะถูกทบทวนเพื่อให้กัญชาใช้ได้ในทางการแพทย์เท่านั้น นำไปสู่การตั้งคำถามถึงอนาคตของกัญชาในประเทศไทย ที่อาจกลับไปสู่สถานะเดิมของยาเสพติดอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร…
วิเคราะห์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,110 วันที่ 3 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568