คมนาคม ดัน AEROSkyจัดระเบียบโดรนทั่วประเทศ เริ่มนำร่อง ส.ค. 68
คมนาคม หนุน AEROSky จัดระเบียบโดรน เพิ่มความปลอดภัยทางการบิน เริ่มนำร่อง สิงหาคม 68
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เพื่อรับมือกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้งานโดรนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ต่อปี ทั้งในภาคเกษตรกรรมและพื้นที่ทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน กระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ศึกษาและเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบการบริหารจัดการห้วงอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ หรือ ซอฟต์แวร์ AEROSky ซึ่งจะเชื่อมต่อข้อมูลการบินเข้ากับระบบ UAS Portal ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่มีกำหนดเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการภายในเดือนสิงหาคม 2568 นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถขออนุญาตทำการบินโดรนได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน
ในระยะแรก จะเริ่มนำร่องในเขตห้วงอากาศควบคุมจราจรทางอากาศรอบ สนามบินกรุงเทพฯ (สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง), สนามบินกระบี่ และ สนามบินขอนแก่น
ด้าน นายสุรชัย หนูพรหม รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า บวท. ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ AEROSky ซึ่งเป็นระบบบริการพื้นฐานของการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Traffic Management (UTM) ที่ครอบคลุมฟังก์ชันการทำงานที่สำคัญ ได้แก่:
- ระบบการจัดการแผนการบิน (Flight plan management)
- ระบบการจัดการห้วงอากาศ (Airspace Management)
- ระบบการให้การอนุญาตทำการบิน (Authorization)
- ระบบติดตามอากาศยานขณะทำการบิน (Tracking)
- ระบบรายงาน (Reporting)
- ระบบการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำการบิน (Geocaging/Geofencing)
ซอฟต์แวร์ AEROSky จะประมวลผลการอนุญาตทำการบินอากาศยานไร้คนขับในห้วงอากาศที่ บวท. รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น Controlled Airspace ที่ต่ำกว่า 400 ฟุต บริเวณโดยรอบเขตสนามบิน หรือสูงกว่า 400 ฟุต ในพื้นที่ห้วงอากาศทั้งหมด โดยจะทำงานเชื่อมต่อกับระบบการจัดการห้วงอากาศทางการทหารและพลเรือน (Thai-CMAC) รวมถึงระบบบำเพ็ญ ในการขออนุญาตจุดปล่อยบั้งไฟและโคมลอยด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในภาพรวม
บวท. ได้ประสานความร่วมมือและทำงานร่วมกับ กพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อนำระบบดังกล่าวมาใช้งานและบริหารจัดการข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดให้ประชาชนใช้งานและขออนุญาตทำการบินโดรนในพื้นที่นำร่องได้ภายในเดือนสิงหาคม 2568 และวางแผนจะขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่ห้วงอากาศควบคุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2568 นี้