ส.ค.ชี้ชะตา ‘พ่อ-ลูกตระกูลชิน’ ‘แม้ว’ ลำพองปน ‘ความไม่มั่นใจ’
พรรคเพื่อไทยจะดันทุรังไปต่อ โดยใช้โควตาสุดท้ายที่เหลือพร้อมกับองคาพยพเดิมในรัฐบาลนี้ ที่หลายพรรคยังไม่พร้อมลงสนามเลือกตั้งตอนนี้เพราะยังไม่มีความได้เปรียบทางการเมือง
ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤตโลก พลิกเกมเศรษฐกิจไทย’ และ ‘พลิกเกมเศรษฐกิจไทย สู่อนาคต’ ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อค่ำวันที่ 17กรกฎาคม 2568 ‘ล่อแหลม’ และ ‘ลำพอง’
หลายประโยคดูจะไม่เป็นคุณ หากมองถึงสถานการณ์ของตัวเองและลูกสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.วัฒนธรรม ที่ยังมีคดีความอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งงวดเข้ามาทุกขณะ
โดยเฉพาะประโยคที่พูดถึงคดีของลูกสาวในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ
"ผมมีเพื่อนเป็นคนสิงคโปร์ วันที่กลับประเทศไทยเขาบอกว่าในฐานะเพื่อนเขาดีใจมาก แต่ในฐานะคนสิงคโปร์เขาหนักใจ เพราะเขาต้องปรับการแข่งขันกับไทย แต่พอตอนนี้เขาเห็นเราตีกัน นายกฯ ถูกพักงานด้วยเรื่องเฮงซวยวันนี้เขาไม่ต้องกังวลแล้ว”
ทว่า ‘ทักษิณ’ พยายามแสดงความมั่นใจถึงสถานการณ์ของตนเองและลูกสาวที่กำลังเผชิญชะตากรรมอยู่ โดยเฉพาะเรื่องคดีความ
“วันนี้มีใครที่ไปคิดว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนนายกฯ มันไม่มีหรอก เพราะเราต้องทำงานต่อเนื่อง”
ขณะที่ในส่วนของคดี ม.112 ของตัวเองที่ได้วันชี้ชะตาแล้วคือ วันที่ 22 ส.ค. ซึ่งดูเหมือน ‘ทักษิณ’ มั่นอกมั่นใจไม่แพ้กันว่า ตัวเองจะรอด
“ผมขึ้นศาลเองผมรู้ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานอะไรเลย ขณะที่พยานอะไรก็ไม่รู้ ผมได้ถามพนักงานสอบสวน ถ้าวันนั้นไม่ถูกกดดัน พยานหลักฐานแค่นี้จะสั่งฟ้องผมหรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่า อย่าว่าเรื่องสั่งฟ้องเลย รับคดีก็ไม่รับ”
ไม่เพียงเท่านั้น ยังระบุด้วยว่า หลังวันที่ 22 ส.ค. จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดีลกับ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เรื่องกำแพงภาษี
แต่อย่างไรก็ดี ความมั่นใจผ่านคำพูดของ ‘ทักษิณ’ มีหลายครั้งที่ผลลัพธ์ออกมาไม่ได้เป็นอย่างนั้น
และหากฟังปาฐกถา และการตอบคำถามพิธีกรในค่ำวันดังกล่าว มีหลายประโยคที่ซ่อน ‘ความไม่มั่นใจ’ เอาไว้หลายจุดเช่นกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ของ ‘แพทองธาร’
“เขาให้ทำก็ทำเต็มที่ แต่ถ้าเขาไม่ให้ทำก็กลับไปเลี้ยงลูกต่อไปเท่านั้น”
หรือการยอมรับว่า เป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง
"วันนี้เป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง และบางคนเป็นประเภทแบบนกรู้ รู้ไม่รู้ก็ทำเป็นนกรู้ก่อน ซึ่งจะเกิดการชะงักเล็กน้อย ถ้าการเมืองเกิดการชะงัก การบริหารประเทศก็จะชะงักตาม ฉะนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือเสถียรภาพทางการเมือง"
เมื่อถอดรหัสจากท่าทีและคำพูดของ ‘ทักษิณ’ ที่พยายามจะแสดงความมั่นใจ และปรากฏความไม่มั่นใจในบางช่วง มันสะท้อนว่า สถานการณ์การเมืองยังไม่มีความแน่นอน
และต้องไปลุ้นกันในเดือน ส.ค. ตามที่มีการคาดการณ์กันว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยเรื่องคลิปสนทนากับสมเด็จฮุน เซน ในเดือนดังกล่าว หลัง ‘แพทองธาร’ ขอขยายระยะเวลาชี้แจงออกไปอีก 15 วัน
สำหรับชะตากรรมของ ‘แพทองธาร’ ในมือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะรอดหรือไม่รอด ล้วนมีผลต่อการเมืองไทยทั้งสิ้น
พรรคเพื่อไทยแสดงออกว่า ไม่ว่าอย่างไรการเมืองไม่มีทางตัน พวกเขามีแคนดิเดตนายกฯ อยู่ในตะกร้าอีก 1 คนคือ ชัยเกษม นิติสิริ และพร้อมจะใช้โควตานั้นหากเกิดอุบัติเหตุกับ ‘แพทองธาร’
สอดคล้องกับพฤติกรรมของ ‘ทักษิณ’ ในอดีต นายกฯ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ไล่ตั้งแต่นายทักษิณ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีใครยอมลาออกเลยแม้แต่คนเดียว แม้สถานการณ์จะแย่ขนาดไหนก็ตาม
ทั้งหมดจบลงด้วย ‘นิติสงคราม’ หรือ ‘รัฐประหาร’
ฉะนั้น ดูแล้วพรรคเพื่อไทยจะดันทุรังไปต่อ โดยใช้โควตาสุดท้ายที่เหลือพร้อมกับองคาพยพเดิมในรัฐบาลนี้ ที่หลายพรรคยังไม่พร้อมลงสนามเลือกตั้งตอนนี้ เพราะยังไม่มีความได้เปรียบทางการเมือง
แต่การบริหารจะยากกว่าตอนนายเศรษฐาและ น.ส.แพทองธารแน่นอน เพราะอำนาจต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลจะมากขึ้นอีกเท่าตัว กระทรวงเกรดเอที่กอดเอาไว้อาจจะต้องยอมสละเพื่อแลกกับการอยู่ต่อ
หลายนโยบายจะเดินลำบาก เพราะมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ ขนาดสมัยประชุมสภานี้ยังต้องชิงปิดประชุมหนีการนับองค์ประชุมสภาล่มไปแล้ว 2 รอบ ทั้งที่ยังเปิดได้ไม่ถึงเดือน
‘ชัยเกษม’ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัวจริง สุดท้ายอายุรัฐบาลอาจไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่
อีกจุดที่จับตาคือ หาก น.ส.แพทองธารไม่รอดจริง ช่วงที่สุญญากาศเพื่อรอเลือกนายกฯ ใหม่ ต้องระวังสถานการณ์แทรกซ้อน เพราะในอดีตเคยเกิดปรากฏการณ์พลิกขั้ว เปลี่ยนข้างเกิดขึ้นได้
ส่วนกรณีถ้า น.ส.แพทองธาร ‘รอด’ ซึ่งบางฝ่ายมองว่า มีโอกาสน้อยมาก เพราะคลิปสนทนาค่อนข้างชัดในตัว ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย ดังนั้น ถ้าออกมาสวนทางกับความรู้สึกคน กระบวนการยุติธรรมอาจเจอตั้งคำถามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะข่าวลือเรื่อง ‘ดีลลับ’ ต่ออายุขัยรัฐบาล
แต่อย่างไรก็ตาม ต่อให้รอด แต่รัฐบาลจะบริหารประเทศยากลำบากอยู่ดี หลายนโยบายต้องถอย ต้องถอน เหมือนกับเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพราะรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เสียงปริ่มน้ำมานิดเดียว
จะผลักดันเรื่องอะไรก็สำเร็จยาก เพราะตราบใดที่ สว.ชุดปัจจุบันซึ่งถูกมองว่าเป็นองคาพยพของสีน้ำเงินยังดำรงอยู่ หลายเรื่องของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันย่อมไปไม่ถึงฝั่งฝัน
รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะทำได้เพียงบริหารไปวันๆ โดยไม่มีนโยบายผลิดอกออกผลแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ยังต้องคอยทำศึก ‘แดง-น้ำเงิน’ อยู่ตลอดเวลา
ซึ่งนับตั้งแต่ไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคภูมิใจไทยเดินเกมการเมืองแรง คู่ขนานไปกับคดีต่างๆ ในองค์กรอิสระของคนในรัฐบาล พยายามเร่งเกมเพื่อปิดเกมให้เร็วที่สุด เพราะศึกนี้ยิ่งช้ายิ่งไม่เป็นผลดีกับตัวเอง การปล่อยให้พรรคเพื่อไทยอยู่ในอำนาจจนพยุงตัวกลับมาได้ จะทำให้ตัวเองเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน ยิ่งปล่อยให้เวลาล่วงเลยนานเท่าใด สส.ในสังกัดที่ไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นฝ่ายค้าน จะค่อยๆ กระโดดหนี แปรพักตร์ไปเติมเสียงให้รัฐบาล เหมือนกรณี 3 สส.อีสานไปโหวตทิศทางเดียวกับพรรคเพื่อไทย
ในจังหวะที่พรรคภูมิใจไทยเปิดเกมรุก พรรคเพื่อไทยเองก็ทำนิติสงครามผ่านหน่วยงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่กลับเช่นกัน อย่างที่กระทรวงมหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย สั่งรื้อคดีเขากระโดงใหม่
หรือการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังไล่บี้คดีฮั้วเลือก สว.อย่างขมีขมัน และล่าสุดลงพื้นที่ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสนามบินส่วนตัวรุกทางสาธารณะและที่ดินในนิคมลำตะคอง ซึ่งเป็นของตระกูลอดีตรัฐมนตรีชื่อดังค่ายสีน้ำเงิน
สถานการณ์การเมืองจะทรงตัวแบบนี้ จนประเทศไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้!
ซึ่งดูเหมือนพรรคเพื่อไทยเองไม่ได้วางใจต่อสถานการณ์นี้เช่นกัน พยายามจัดทัพเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยนอกจากนายภูมิธรรมจะทำสงครามโต้กลับพรรคสีน้ำเงิน ด้วยการรื้อคดีเขากระโดงแล้ว ยังเร่งจัดทัพข้าราชการใหม่ โดยเฉพาะในกระทรวงมหาดไทยที่เด้งอธิบดีซึ่งถูกตั้งในยุคก่อนไปแล้ว 2 ตำแหน่ง
ไม่เพียงเท่านั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ก่อน นายภูมิธรรมได้ให้นโยบายรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในที่ประชุมเลยว่า ให้เร่งแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงโดยเร็ว ทั้งที่ยังเหลืออีกเวลากว่า 2 เดือน
เหมือนเป็นการเร่งจัดทัพรองรับหากเกิดอุบัติเหตุ!
ส.ค.นี้การเมืองเดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง.