กรณ์ชี้ “สงครามภาษี” ไม่เกิด โลกยอมถอยให้ทรัมป์ รักษาตลาดอเมริกา
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij” วิเคราะห์ภาษีทรัมป์ในหัวข้อ
Trump wins for the USA?
สามเดือนก่อน ตอนที่ทรัมป์ประกาศอัตราภาษีสูงลิ่วในวัน Liberation Day นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกประณามมาตรการใช้ภาษีนำเข้าเป็นอาวุธสงคราม โดยทำนายว่า เมื่อมีการตอบโต้จากประเทศต่างๆ สุดท้ายจะฉุดเศรษฐกิจโลกโดยรวมให้ถดถอยเหมือนเมื่อเกือบร้อยปีก่อน
แต่ปรากฏว่า ‘สงครามภาษี‘ ไม่ปรากฏ เพราะนอกจากจีนและแคนาดาแล้ว ไม่มีประเทศใดกล้าขึ้นภาษีสู้กับทรัมป์ ไม่มีการผนึกกำลัง แทบทุกคนยอมอ่อนข้อเพื่อรักษาสิทธิการเข้าถึงผู้บริโภคชาวอเมริกัน
ผมว่าความต่างรอบนี้เมื่อเทียบกับยุค 1930’s คือประเทศต่างๆพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และพึ่งพาตลาดอเมริกามากขึ้นเช่นกัน คนอเมริกันเสพติดการซื้อของ ประเทศผู้ผลิตก็เสพติดการขายของให้อเมริกา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาระภาษีที่ปรับขึ้นจะถูกแบ่งกันสามส่วน ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าที่ต้องลดมาร์จิ้นลง และผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ต้องจ่ายแพงขึ้น
สมมุติภาษี 20% ผู้ส่งออกแบกรับไป 10 ผู้นำเข้าลดมาร์จิ้นลง 5 ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น 5 ส่วนรัฐบาลอเมริกันรับเต็มๆ 20
การบริโภคอาจลดลงบ้าง ผู้ประกอบการกำไรน้อยลงแน่นอน แต่รัฐบาลอเมริกันรายได้เพิ่มขึ้นมากจากการเก็บภาษี
ถ้าให้ผมทำนาย รายได้จากภาษีนำเข้าของอเมริกาจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ส่วนการขาดดุลของอเมริกาจะลดลงไม่มาก การย้ายฐานการผลิตไปอเมริกาจะเกิดขึ้นน้อย (เพราะภาษีนำเข้า 20% ยังไม่คุ้มกับการย้ายการผลิตไปอเมริกาเมื่อเทียบต้นทุนการผลิตที่แพงกว่า) การส่งออกสินค้าอเมริกันจะเพิ่มขึ้น (บ้าง) โลกไม่เปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง แต่ทุกคนจนลง (เว้นแต่อเมริกา) ประเทศที่หากินกับอเมริกามากก็จ่ายมาก ต้องปรับตัว
ถ้าเป็นอย่างนี้ ทรัมป์ชนะ and there ain’t anything anyone can/will do! ภาพนี้จะเปลี่ยนเพียงหากปรากฏว่าของแพงขึ้นกว่าที่คิดในอเมริกา ส่งผลกระทบให้ประชาชนเดือดร้อน